ข้ามไปที่เนื้อหา
Hiring Advice ดูแลพนักงานของคุณ 10 วิธีสร้างแรงจูงใจ ช่วยเติมไฟให้พนักงาน
10 วิธีสร้างแรงจูงใจ ช่วยเติมไฟให้พนักงาน

10 วิธีสร้างแรงจูงใจ ช่วยเติมไฟให้พนักงาน

เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่เมื่อได้ทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ นานๆ ก็มักจะเกิดความเบื่อหน่ายหรือหมดไฟลงได้ โดยเฉพาะกับพนักงานบริษัทหรือมนุษย์เงินเดือนที่มีความเสี่ยงเรื่องการหมดไฟได้มากกว่าคนอื่นๆ ดังนั้นบริษัทจึงควรใส่ใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อช่วยดูแลและเติมไฟในการทำงานให้พวกเขาอยู่เสมอ อีกทั้งยังเป็นรักษาคนมีความสามารถให้อยู่กับบริษัทไปนานๆ โดย Jobsdb มีทริคดีๆ ในการสร้างแรงจูงใจ และช่วยเติมไฟให้พนักงานมาฝากกัน

1. สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในออฟฟิศ

ปัจจัยลำดับต้นๆ ที่ทำให้พนักงานบริษัทหมดไฟคือเรื่องของบรรยากาศในออฟฟิศนี่แหละ บางที่บอกว่าทำงานกันแบบครอบครัวหรือทำงานแบบพี่น้อง แต่แท้ที่จริงเปรียบเสมือนพี่น้องในละคร ที่เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา ซึ่งบรรยากาศแบบนี้ก็อาจทำหลายคนเบื่อจนถึงขั้นหมดไฟ ลามไปจนถึงการลาออกในที่สุด

ดังนั้นบริษัทควรมีกิจกรรมที่ช่วยเชื่อมสัมพันธ์ของพนักงาน ให้ทุกคนทำความรู้จักกันให้มากขึ้นทั้งในและนอกเวลางาน พยายามกิจกรรมช่วยลดความเครียด สร้างบรรยากาศการทำงานที่ผ่อนคลายที่ไม่กดดัน หาเวลาคุยเล่นหรือให้พนักงานได้รีแลกซ์ระหว่างวันบ้าง

2. สวัสดิการต้องโดนใจ

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่มีส่วนช่วยในการตัดสินใจในการเข้าทำงานกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งคือเรื่องของสวัสดิการที่ดี รวมไปถึงยังเป็นการซื้อใจพนักงานปัจจุบันให้อยากทำงานต่อไปเรื่อยๆ ด้วย เพราะทุกคนล้วนก็อยากได้รับการดูแลที่ดีจากบริษัทด้วยกันทั้งนั้น ทำให้สวัสดิการถือเป็นแรงจูงใจชั้นดีที่จะช่วยเติมไฟให้แก่พนักงานได้ โดยสวัสดิการที่น่าสนใจ ได้แก่

  • กิจกรรมพิเศษประจำสัปดาห์ เช่น Happy Friday

  • ทริปประจำปีของบริษัท

  • คอร์สเรียนเสริมทักษะ

  • งบพิเศษสำหรับกิจกรรมผ่อนคลาย

  • สวัสดิการด้านสุขภาพที่ครอบคลุม

  • รางวัลพิเศษอื่นๆ

3. เวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น

แม้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลายลงไปแล้ว แต่มันก็สอนให้เราได้รู้ว่าจริงๆ แล้วการทำงานแบบ Work From Anywhere ก็มีประสิทธิภาพได้ไม่แพ้การนั่งทำงานในออฟฟิศ ดังนั้นหากบริษัทจะสานต่อการทำงานสไตล์นี้ไปเรื่อยๆ ก็ถือว่ามีส่วนช่วยในการเติมไฟในการทำงานให้พนักงานได้เช่นกัน โดยลองปรับการทำงานเป็น Hybrid Work ให้พวกเขาได้สลับวันเข้าทำงาน เช่น เข้าออฟฟิศ 3 วัน และ Work From Anywhere เป็นเวลา 2 วัน เป็นต้น

เพราะนี่จะช่วยให้พวกเขาได้เปลี่ยนบรรยากาศในการทำงาน ไม่รู้สึกซ้ำซากจำเจหรือรู้สึกกดดันมากเท่ากับการนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศที่มีแต่ผู้คนและโต๊ะในมุมสี่เหลี่ยม นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องของเวลาการเข้า-ออกงานที่ยืดหยุ่นด้วยเช่นกัน เพราะการที่พนักงานจะรีบเดินทางมาทำงานให้ทัน 09.00 น. หรือกังวลว่าหากมาสายจะต้องโดนหักเงิน ก็อาจเป็นการสร้างแรงกดดันจนหมดไฟไปเลยก็ได้ ทางที่ดีควรวัดที่ผลงานมากกว่า

4. Work Life Balance ก็สำคัญไม่แพ้กัน

นอกจากเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นแล้ว เรื่องของ Work Life Balance ในยุคนี้ก็ควรเป็นสิ่งที่บริษัทต้องให้ความสำคัญกับพนักงาน เพราะอย่าลืมว่าทุกคนล้วนก็ต้องมีชีวิตส่วนตัวด้วยกันแทบทั้งสิ้น ควรเคารพเวลาส่วนตัวของพวกเขา ไม่คุยเรื่องงานหรือสั่งงานนอกเวลางานอย่างเด็ดขาด หากไม่มีเรื่องด่วนจริงๆ เพราะนี่ถือเป็นสาเหตุหลักๆ เลยล่ะที่หลายคนหมดไฟในการทำงาน เพราะบริษัทไม่สามารถแยกงานกับชีวิตส่วนตัวของพนักงานออกได้ อีกทั้งยังควรเสริมในเรื่องของการเพิ่มเวลาพักผ่อนให้พนักงานด้วย เช่น

  • ไม่กำหนดเวลาพักกลางวันที่ตายตัว

  • สามารถเลิกงานได้เร็วขึ้น ตามความเหมาะสม

  • เพิ่มวันหยุดพักผ่อนประจำปี

5. เน้นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในองค์กร

เรื่องของการสื่อสารที่ดีก็จะทำให้พวกเขารู้ได้ว่าบริษัทจะเติบโตไปในทิศทางไหน พร้อมจะดูแลสวัสดิภาพของพนักงานได้อย่างไร โดยควรจัดกิจกรรมเช่น Town Hall เพื่อสื่อสารกับพนักงานอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่ออัปเดตภาพรวมของบริษัท ผลกำไร งบประมาณ กิจกรรม หรือสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้พนักงานได้รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของบริษัทอยู่เสมอ

นอกจากนี้ยังควรเปิดรับทุกความคิดเห็นจากพนักงาน หากใครมีข้อเสนอแนะตรงจุดไหน ก็ควรพร้อมรับฟังและนำเอาคำติชมนั้นไปปรับปรุง เพื่อให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุขมากที่สุด

6. ให้เกียรติพนักงาน

ไม่มีใครที่ชอบคุยกับคนที่พูดจาไม่ดีหรือประชดประชัน ดังนั้นภายในบริษัทจึงควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในตำแหน่งใด เพราะนี่ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกองค์กรต้องมี ควรพูดคุยกันด้วยเหตุผล น้ำเสียงที่ดี แสดงถึงความีน้ำใจไมตรีต่อกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติในเรื่องเพศหรือตำแหน่งต่างๆ พยายามกระตุ้นให้พนักงานรู้สึกว่าทุกคนล้วนมีความสำคัญในการช่วยกันขับเคลื่อนองค์กร

ไม่ควรแสดงกิริยาก้าวร้าว เหน็บแหนม ประชดประชัน โวยวาย หรือแสดงอำนาจ เพราะจะทำให้พนักงานเกิดความเครียด กลัว หมดศรัทธา หรือรู้สึกไม่ดีกับองค์กรได้ จนกลายเป็นอาการหมดไฟ ลามไปจนถึงการแจ้งลาออกในที่สุด

7. ทำให้พนักงานได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

การที่บริษัทหรือหัวหน้าช่วยสร้างแรงจูงใจ ทำให้พนักงานได้รู้สึกว่าพวกเขามีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้ ก็ถือเป็นการสร้างแรงจูงใจให้พวกเขามีไฟในการทำงาน และผลิตผลงานที่มีประสิทธิภาพออกมาได้ หากมีโปรเจ็กต์ที่พนักงานคนนั้นๆ ทำสำเร็จ ควรชื่นชมยินดีกับความสำเร็จ และมอบรางวัลให้ตามเห็นสมควร จะช่วยทำให้พวกเขาเกิดความภูมิใจ ได้รู้สึกถึงการเป็นเจ้าขององค์กรร่วมกัน ถือเป็นแรงจูงใจชั้นดี เพราะสิ่งนี้เกิดจากความทุ่มเทตั้งใจของพวกเขาอย่างแท้จริง

8. มอบความยุติธรรมให้แก่พนักงาน

หากมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นภายในองค์กร อย่างแรกเลยก็คือบริษัทควรรีบแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นไม่ให้บานปลาย ควรเรียกพนักงานมาคุยด้วยเหตุผลโดยปราศจากการใช้อารมณ์ ตักเตือนด้วยคำพูดที่เหมาะสม พร้อมคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เพราะหากปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไขล่าช้า ก็จะทำให้พนักงานรู้สึกเบื่อและรู้สึกว่าบริษัทไม่ได้ใส่ใจพวกเขาเท่าที่ควร

อีกหนึ่งอย่างคือเรื่องการประเมินผลงาน โดยเฉพาะหัวหน้างานจะต้องเป็นคนที่ไม่ลำเอียง ไม่มีลูกรักลูกชัง ไม่เลือกปฏิบัติ แต่ต้องพร้อมมอบความเป็นธรรมให้แก่ทุกคน ให้คะแนนการประเมินตามผลงาน ไม่ใช่ประเมินตามความชอบส่วนตัวหรือความพอใจ

9. จัดฝึกอบรมหรือเสริมทักษะให้พนักงาน

การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ทางบริษัทจึงควรจัดสรรงบประมาณให้พนักงานได้เรียนรู้เพิ่มเติม เพราะถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งกับตัวพนักงานและบริษัทเองด้วย ถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่จะช่วยเติมไฟให้พวกเขาอยากพัฒนาตัวเอง อยากเติบโตไปในสายงานนั้นๆ ได้อย่างมั่นคงมากยิ่งขึ้น ได้รู้จุดหมายของสายอาชีพตัวเองว่าจะเดินไปในทิศทางไหน โดยการจัดฝึกอบรมมีหลายวิธี ดังนี้

  • สนับสนุนงบประมาณการเรียนตามสายงาน

  • การโค้ชเรื่องการตั้งเป้าหมายในสายอาชีพ

  • อบรมเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน

  • ส่งไปอบรมกับพาร์ทเนอร์ภายนอกองค์กร

  • การหมุนเวียนตำแหน่งงาน

10. มอบรางวัลพิเศษให้พนักงาน

การมอบรางวัลพิเศษถือเป็นอีกหนึ่งวิธีเติมไฟชั้นดีให้พนักงาน เพราะบางครั้งคำชมแชยอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ บริษัทจึงควรหาสิ่งตอบแทนเพิ่มเติมที่เป็นแสดงถึงความขอบคุณอย่างจริงใจจากองค์กร ต่อการตั้งใจทำงานที่มีประสิทธิภาพของพนักงาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ทำให้พวกเขารู้สึกดีกับองค์กรมากขึ้น และอยากตั้งใจทำงานให้ดีออกมายิ่งๆ ขึ้นไป

โดยรางวัลอาจเป็นการขึ้นเงินเดือน เงินรางวัลพิเศษ ของขวัญที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะพนักงานคนนั้นๆ หรือสิ่งของคุณภาพที่สามารถใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

สรุปวิธีสร้างแรงจูงใจ เติมไฟให้พนักงาน

การดูแลพนักงานในบริษัทถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกบริษัทต้องใส่ใจ เพราะอย่าลืมว่าทุกวันนี้สุขภาพจิตก็สำคัญไม่แพ้กับเงินเดือน การทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สามารถซื้อใจคนที่มีความสามารถให้อยู่องค์กรไปได้นานๆ อีกทั้งอย่าลืมว่ายังมีอีกหลายบริษัทที่ต้องการคนที่มีความสามารถไปร่วมงานเช่นเดียวกัน สุดท้ายหากบริษัทนั้นๆ ดูแลพนักงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร เขาก็ย่อมอยากไปทำงานกับบริษัทที่อยู่แล้วมีความสุขมากกว่านั่นเอง       

สมัครรับคำแนะนำเกี่ยวกับการจ้างงาน

รับข่าวสารเกี่ยวกับ คำแนะนำการจ้างงาน ผ่านทางอีเมลของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา