ข้ามไปที่เนื้อหา
Hiring Advice ดูแลพนักงานของคุณ เทคนิคปลูกฝังแนวคิด Ownership ให้พนักงาน เคล็ดลับความสำเร็จขององค์กร
เทคนิคปลูกฝังแนวคิด Ownership ให้พนักงาน เคล็ดลับความสำเร็จขององค์กร

เทคนิคปลูกฝังแนวคิด Ownership ให้พนักงาน เคล็ดลับความสำเร็จขององค์กร

องค์กรหลายแห่งต่างก็เคยประสบปัญหาพนักงานทำงานได้ไม่เต็มที่ ขาดความคิดสร้างสรรค์ ทำงานไปวันๆ ขาดเป้าหมายในการทำงาน มีทัศนคติแง่ลบต่องานที่ทำ ขาดความผูกพันต่อองค์กร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม (Ownership) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทุกองค์กรควรจะปลูกฝังให้แก่พนักงาน เพื่อให้ธุรกิจเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน

Ownership คืออะไร

Ownership หรือ Sense of Business Ownership หมายถึง ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกับองค์กรนั้นๆ การขาดแนวคิด Ownership จะส่งผลให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ยิ่งเมื่อปล่อยให้ปัญหาสะสมนานวันเข้า จะกลายเป็นตัวฉุดรั้งให้องค์กรไม่พัฒนาเท่าที่ควร ดังนั้น เจ้าของธุรกิจหรือองค์กรชั้นนำจึงมักเล็งเห็นความสำคัญของการปลูกฝัง mindset หรือวิธีคิดแบบ Ownership ให้แก่พนักงาน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือความสำเร็จและผลผลิตที่มีคุณภาพขององค์กร

วิธีคิดแบบ Ownership ดีต่อองค์กรอย่างไร

การปลูกฝังให้พนักงานมีวิธีคิดแบบ Ownership มีข้อดีมากมาย ได้แก่

  • ช่วยให้พนักงานเข้าใจเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน ทำงานตรงวัตถุประสงค์ยิ่งขึ้น

  • สร้างแรงจูงใจในการทำงาน กระตุ้นการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง ใช้ทักษะที่มีมาต่อยอดงาน

  • ทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากหัวหน้างานหรือผู้บริหาร

  • พัฒนาการทำงานเป็นทีมให้มีการสื่อสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

  • ประหยัดทรัพยากรเวลาและแรงงาน

  • องค์กรมีความเข้มแข็ง สร้างความเชื่อมั่นให้พนักงาน ลดอัตราการลาออก     

5 เทคนิคการสร้างวิธีคิดแบบ Ownership

การสร้างวิธีคิดแบบ Ownership ไม่ใช่เรื่องยาก โดยสามารถใช้เทคนิคสำคัญ 5 ประการดังนี้

  1. คิดแบบ Ownership - เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางองค์กร ⁠ ⁠แต่ละองค์กรต่างก็มีวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) และค่านิยมหลัก (Core Values) ที่ผู้บริหารระดับสูงกำหนดไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ซึ่งพนักงานมีหน้าที่ปฏิบัติตามเพียงเท่านั้น จึงอาจรู้สึกเหมือนกับว่าไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางองค์กร ในทางกลับกัน หากพนักงานทุกระดับชั้นได้มีโอกาสกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมหลักร่วมกัน ย่อมจะสร้างความรู้สึกของการเป็น Ownership ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนองค์กรต่อไป ⁠ ⁠วิธีสร้างการมีส่วนร่วมอาจเริ่มจากขั้นตอนง่ายๆ อย่างเช่น การสำรวจความคิดเห็นของพนักงานโดยรวม การคัดเลือกตัวแทนพนักงานจากแผนกต่างๆ มาร่วมพูดคุย สะท้อนปัญหาและความคิดเห็น เพื่อให้ได้มุมมองและแนวคิดที่หลากหลาย น่าสนใจ ตรงประเด็น แล้วนำไปพัฒนาองค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้พนักงานรู้สึกว่าความคิดเห็นของตนเองได้รับการใส่ใจ และได้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างจริงจัง  ⁠

  2. คิดแบบ Ownership - สื่อสารแบบสองทาง (Two-way communication) ⁠ ⁠การปลูกฝังวิธีคิดแบบ Ownership จะไม่สำเร็จเลยหากปราศจากการสื่อสาร แน่นอนว่าในองค์กรที่มีวิธีการทำงานแบบสื่อสารทางเดียว (One-way communication) ผู้บริหารมักจะสั่งงานลงไปที่พนักงานให้ทำตามคำสั่งเท่านั้น ในบางครั้งพนักงานอาจยังไม่เข้าใจเลยด้วยซ้ำว่า ทำแล้วได้อะไร ทำไปเพื่ออะไร จะดีกว่าไหมหากใช้การสื่อสารแบบสองทางที่เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถสอบถามและแสดงความคิดเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา มีการแลกเปลี่ยนประเด็นระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน ซึ่งจะช่วยให้การสื่อสารมีความเคลียร์กันทุกฝ่าย เมื่อพนักงานเกิดความเข้าใจก็จะช่วยออกไอเดียในการพัฒนางานนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่ ⁠

  3. คิดแบบ Ownership - ให้อิสระในการทำงานแก่พนักงาน ⁠ ⁠การทำงานที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับการถูกควบคุมอย่างเข้มงวด แต่พนักงานต่างก็ต้องการอิสระในการทำงานอย่างเหมาะสม โดยผู้บริหารควรมอบหมายงานที่มีเป้าหมายชัดเจน ให้อิสระในการตัดสินใจ เชื่อมั่นในตัวพนักงาน ให้การสนับสนุนและคำปรึกษาที่ดี หากเกิดปัญหาก็ต้องร่วมกันแก้ไข ที่สำคัญคือต้องเลี่ยงการกล่าวโทษหรือโยนความผิดให้ใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี มีความผ่อนคลาย เอื้อต่อการจุดประกายไอเดียสร้างสรรค์ ร่วมกันพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น ⁠

  4. คิดแบบ Ownership - เชื่อมโยงระหว่างผลงานกับความสำเร็จขององค์กร ⁠ ⁠พนักงานที่ทำงานไปวันๆ โดยไม่เข้าใจว่าผลงานของตนเองสร้างผลสำเร็จให้องค์กรอย่างไรบ้าง จะยิ่งไม่รู้สึกถึง Ownership ดังนั้น ผู้บริหารจึงต้องผลักดันให้พนักงานมองเห็นความเชื่อมโยงดังกล่าว เช่น พนักงานมี service mind ให้บริการอย่างดี  ⁠ ⁠จนลูกค้าเกิดความพึงพอใจและกลับมาใช้บริการซ้ำ รวมทั้งบอกต่อให้คนอื่นๆ มาใช้บริการ ส่งผลต่อยอดขายหรือภาพลักษณ์ของบริษัทที่ดีขึ้น เมื่อพนักงานตระหนักได้ว่าความทุ่มเทของตนเองเกิดผลที่เป็นรูปธรรม ก็จะมีความภาคภูมิใจ พัฒนาทักษะและผลงานให้ดียิ่งขึ้น ⁠

  5. คิดแบบ Ownership -  ทุ่มเทมาก ผลตอบแทนมาก ⁠ ⁠เมื่อพนักงานใส่ความพยายามในการทำงานอย่างหนักแล้ว นอกเหนือจากผลตอบแทนเชิง emotional ทั้งคำชื่นชม ความภาคภูมิใจ ได้รับการยกย่องจากหัวหน้างาน รางวัลเกียรติยศต่างๆ องค์กรควรที่จะให้ผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรมด้วย เช่น Incentive Bonus ประจำปี หุ้นบริษัท หรือผลตอบแทนอื่นๆ ที่สามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่พนักงาน เพื่อให้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์งานต่อไป  ⁠ ⁠ทั้งยังเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่พนักงานคนอื่นๆ ที่ต้องการได้รับผลตอบแทนเหล่านั้นด้วย ยิ่งพนักงานทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่จนเกิดผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ ก็ย่อมได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าด้วยเช่นกัน

สรุปการปลูกฝัง Ownership ให้พนักงาน

วิธีคิดแบบ Ownership คือ การที่พนักงานมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกับองค์กร จะส่งผลต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยให้พนักงานเข้าใจเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน มีแรงจูงใจในการทำงาน กระตุ้นการพัฒนาตนเอง สามารถทำงานเชิงรุกมากขึ้น

ความสัมพันธ์ภายในองค์กรดีขึ้น ทำให้องค์กรมีความเข้มแข็งและสร้างสรรค์ผลงานมีประสิทธิภาพ โดยเทคนิคสำคัญคือ พนักงานต้องมีโอกาสร่วมกำหนดทิศทางองค์กร ต้องมีการสื่อสารภายในองค์กรอย่างสม่ำเสมอและเป็นการสื่อสารแบบสองทาง พนักงานมีอิสระในการทำงานและการตัดสินใจ มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างผลงานที่ตนเองทำกับความสำเร็จขององค์กร ตระหนักได้ว่าตนเองมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้องค์กรเติบโตได้ สุดท้ายเมื่อทุ่มเทพลังกายและใจอย่างเต็มที่แล้ว ก็ต้องได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าและคู่ควรด้วยเช่นกัน

สำหรับพนักงานและองค์กรที่ต้องการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน ก็สามารถนำเทคนิค Ownership ที่แนะนำมาทั้งหมดนี้ไปปรับใช้ให้เข้ากับการทำงานของตนเองดูได้ เชื่อได้ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะสร้างประโยชน์ทั้งต่อองค์กรและพนักงานอย่างแน่นอน

สมัครรับคำแนะนำเกี่ยวกับการจ้างงาน

รับข่าวสารเกี่ยวกับ คำแนะนำการจ้างงาน ผ่านทางอีเมลของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา