Hiring Advice วิธีดึงดูดผู้สมัคร เจาะลึก! เทรนด์ตลาดงานและผลตอบแทนที่โดนใจพนักงาน ปี 2567
เจาะลึก! เทรนด์ตลาดงานและผลตอบแทนที่โดนใจพนักงาน ปี 2567

เจาะลึก! เทรนด์ตลาดงานและผลตอบแทนที่โดนใจพนักงาน ปี 2567

หลังจากสถานการณ์ต่างๆ ได้คลี่คลายลง จนกลับมาสู่ภาวะปกติเศรษฐกิจเริ่มฟื้นฟู ธุรกิจต่างๆก็เริ่มกลับมาเดินหน้าอย่างเต็มสูบอีกครั้ง จนทำให้ตลาดงานในปี 2567 คึกคักขึ้นอย่างต่อเนื่อง JobsDB จึงได้สำรวจข้อมูลจากบริษัทในประเทศไทยทั้งหมด 685 บริษัทเกี่ยวกับกลยุทธ์ที่น่าสนใจที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพขององค์กรให้เติบโตในตลาดงานยุคปัจจุบัน มาเจาะลึกถึงข้อมูลที่น่าสนใจไปด้วยกันในบทความนี้

เทรนด์การจ้างงานปี 2567

มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

นายจ้างหลายคนต่างพอใจกับตลาดแรงงานในช่วงที่ผ่านมา หลายบริษัทพร้อมเดินหน้าและมองหาผู้สมัครที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานกับองค์กร จากการสำรวจพบว่าหลายบริษัทที่เราได้คุยด้วยมีการจ้างพนักงานใหม่อย่างน้อย 1 คนในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นพนักงานประจำสูงถึง 97% และบริษัทต่างๆ ที่เราได้สำรวจ คิดเป็นจำนวน 51% มีแพลนจะขยายทีมและจ้างพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นอีกในปี 2567

การจ้างพนักงานแบบสัญญาจ้างกำลังมาแรง

ในปีที่แล้วเราพบว่าการจ้างพนักงานแบบสัญญาจ้าง (Contract) หรือพนักงานพาร์ทไทม์แบบชั่วคราวในบริษัทขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหลายบริษัทบอกว่าการจ้างพนักงานสไตล์นี้ช่วยให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการเรื่องปริมาณงานได้ดีขึ้น สามารถประเมินพนักงานเบื้องต้นได้ก่อนตัดสินใจรับพวกเขาเป็นพนักงานประจำ และสามารถประหยัดงบประมาณในเรื่องสวัสดิการต่างๆ ลงได้

การจ้างพนักงานประจำก็ยังไม่ตกเทรนด์

แม้การจ้างพนักงานแบบสัญญาจ้างจะมาแรงในปีที่ผ่านมา แต่หลายบริษัทก็ยังให้ความสำคัญในการจ้างพนักงานประจำควบคู่กันไปด้วย ซึ่งข้อดีของการจ้างงานพนักงานประจำนั้นจะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ส่วนข้อดีของการจ้างพนักงานแบบสัญญาจ้าง จะสามารถช่วยเติมเต็มการทำงานในส่วนของโปรเจ็กต์พิเศษต่างๆ หรือช่วยดูแลงานอื่นๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นมา แต่ขาดกำลังคนในการปิดจบงาน

จากการสำรวจบอกว่าการจ้างพนักงานแบบสัญญาจ้าง จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจ ช่วยให้ธุรกิจขยายทีมหรือลดจำนวนคนได้ง่ายขึ้น และช่วยลดงบประมาณในเรื่องของการจ้างพนักงานประจำ ซึ่งเทรนด์นี้จะช่วยกระตุ้นให้ฝ่ายสรรหาบุคลากรเฟ้นหาที่ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรได้ดีขึ้น

แอดมิน บัญชี และ HR คือตำแหน่งสุดฮิต

ตำแหน่งยอดฮิตที่มีจ้างงานสูงในปี 2566 ที่ผ่านมา คือ แอดมิน บัญชี และ HR โดยจากบริษัทต่างๆ ที่เราได้ไปสำรวจมามีเปอร์เซนต์การจ้างงานในตำแหน่งดังกล่าวอยู่ที่ 42% ตามด้วยตำแหน่งพนักงานขาย (Sales) และ Business Development อยู่ที่ 30% ต่อมากับตำแหน่ง Marketing และ Branding อยู่ที่ 24% และตำแหน่งวิศวกร 20%

ในขณะที่ตำแหน่งเกี่ยวกับ Information และ Technology เคยฮิตเป็นอันดับที่ 4 ในปี 2565 แต่ในปีที่แล้วกลับตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 6 นอกจากนี้ธุรกิจต่างๆ ก็ยังเดินหน้าเฟ้นหาพนักงานในสายงานด้านการเงินและการจัดการด้วย ซึ่งในปีที่แล้วทั้ง 2 ตำแหน่งนี้ก็ติดอันดับท็อป 10 ด้วยเช่นกัน โดยงานด้านการเงินอยู่ในอันดับที่ 8 และงานด้านการจัดการอยู่ในอันดับที่ 10

กลยุทธ์ด้านผลตอบแทนของพนักงาน

ไปดูกันว่าอะไรคือปัจจัยที่จะช่วยดูแลและรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้อยู่กับบริษัทได้นานที่สุด และบริษัทต่างๆที่เราไปสำรวจมา เขามีนโยบายในเรื่องผลตอบแทนพนักงานแบบไหนกันบ้าง

1.การเปรียบเทียบอัตราเงินเดือน

จากผลสำรวจของบริษัทต่างๆ จำนวน 56% บอกว่าพวกเขาใช้กระบวนการในการเปรียบเทียบอัตราเงินเดือนกับบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในธุรกิจประเภทเดียวกันขนาดขององค์กรที่พอๆ กันและในตำแหน่งงานเดียวกัน ซึ่งการใช้กระบวนการเปรียบเทียบเงินเดือนจะถือว่าเป็นสิ่งที่ยุติธรรมต่อลูกจ้างแล้ว ยังช่วยให้บริษัทสามารถจัดการงบประมาณเงินเดือนได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่หลายบริษัทนิยมใช้ก็คือ การปรับโครงสร้างหรือการสร้างสรรค์สวัสดิการที่ตอบโจทย์พนักงาน จากผลการสำรวจจำนวน

52% ของบริษัทต่างๆ มักนิยมใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายเพื่อประเมินและปรับปรุงผลตอบแทนต่างๆ ให้แก่พนักงานดังนี้

  • ประเมินแนวทางการจ่ายเงินและผลประโยชน์ของบริษัท

  • การเปรียบเทียบสวัสดิการและผลประโยชน์ต่างๆ

  • พัฒนาหรือปรับโครงสร้างการจ่ายเงินของบริษัท

  • การสำรวจความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร

  • คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อในการคำนวณการขึ้นเงินเดือนของพนักงาน

2.กลยุทธ์ที่แตกต่างตามขนาดของบริษัท

กลยุทธ์การจ่ายค่าตอบแทนที่ใช้โดยธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กมีความแตกต่างกัน บริษัทขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะใช้การเปรียบเทียบเงินเดือนและนำเสนอสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะประเมินแนวทางการจ่ายเงิน ดำเนินการเปรียบเทียบสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ และปรับปรุงโครงสร้างการจ่ายเงิน

3.การจ่ายโบนัส

จากผลสำรวจจำนวน 55% มีหลายบริษัทจ่ายโบนัสเฉลี่ยให้พนักงานอยู่ที่ 1.5 เดือน ซึ่งต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของปีที่แล้วที่อยู่ที่ 1.8 เดือน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือบริษัทต่างๆ มีความโปร่งใสในวิธีการพิจารณาการจ่ายโบนัส โดย 72% ของบริษัทที่เราสำรวจกล่าวว่าพวกเขามีการชี้แจงเรื่องการคำนวณโบนัสให้แก่พนักงาน

4.อัตราการขึ้นเงินเดือนสูงขึ้น

ในปี 2566 ที่ผ่านมาถือเป็นปีแห่งการฟื้นฟู มนุษย์เงินเดือนชาวไทยส่วนใหญ่รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นจากแรงกดดันเรื่องค่าครองชีพ เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 6.69% ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศที่ 6.08% ในปี 2565

5.อัตราการปรับตำแหน่งที่สูงขึ้น

ในปี 2023 เหล่ามนุษย์เงินเดือนรู้สึกถึงความก้าวหน้าในสายงานมากขึ้น จากการสำรวจในหลายๆ บริษัทมีการเลื่อนตำแหน่งให้พนักงานมากถึง 62% ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วที่มีการเลื่อนตำแหน่งแค่ 50%

สวัสดิการก็สำคัญไม่แพ้เงินเดือน

องค์กรชั้นนำมักให้ความสำคัญในเรื่องของสวัสดิการและผลประโยชน์เพื่อดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถไว้กับบริษัทให้นานที่สุด จากการสำรวจบอกว่าหลายบริษัทมีการมอบข้อเสนอพิเศษและสวัสดิการที่แปลกใหม่มากขึ้น ไปดูกันว่ามีสวัสดิการแบบไหนที่น่าสนใจบ้าง

การลาพิเศษ

พนักงานทุกคนล้วนมีชีวิตส่วนตัวนอกเหนือจากเรื่องงานด้วยกันแทบทั้งสิ้น จากการสำรวจจึงบอกว่าหลายบริษัทนิยมเพิ่มการลาพิเศษประเภทต่างๆ ให้กับพนักงานมากขึ้น อาทิ การลาเพื่อไปดูแลครอบครัว การลาเพื่อไปเรียนหรือสอบ เป็นต้น นอกจากนี้บางบริษัทยังมีการลาพิเศษในวันเกิด (Birthday Leave) หรือการลาสำหรับคุณพ่อลูกอ่อนอีกด้วย ซึ่งการเพิ่มวันลาพิเศษต่างๆ ให้แก่พนักงาน จะช่วยให้พนักงานรู้สึกพึงพอใจและผูกพันกับองค์กรมากขึ้น แล้วจะช่วยทำให้พวกเขามีความตั้งใจในการผลิตผลงานที่มีคุณภาพกลับคืนสู่บริษัทเช่นเดียวกัน

สวัสดิการด้านการเงินและสุขภาพ

ในปี 2566 กลยุทธ์การดูแลพนักงานมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน หลายบริษัทมีการนำเสนอสิทธิประโยชน์ทางการเงินใหม่ๆ เช่น การตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ และประกันชีวิต ถือเป็นข่าวดีสำหรับพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติสุขภาพอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งหลายบริษัทต่างก็เริ่มเสนอความคุ้มครองพิเศษในด้านสุขภาพใจ เพื่อดูแลพนักงานที่เกิดความเครียดสะสมหลังจากการล็อคดาวน์หรือเครียดจากการทำงานด้วย

สิทธิประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัย

สิทธิประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัย อาจประกอบด้วย การสนับสนุนเงินค่าเช่าที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยง สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือเงินอุดหนุนดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย ซึ่งสิทธิประโยชน์ประเภทนี้มักไม่ค่อยถูกบรรจุไว้เรื่องสวัสดิการของพนักงาน โดยค่าเบี้ยเลี้ยงถือเป็นสวัสดิการที่เราอาจพบเห็นกันได้มากที่สุดในบริษัทต่างๆ หากบริษัทไหนที่พร้อมมอบสิทธิประโยชน์เหล่านี้ให้แก่พนักงานมากขึ้น ก็อาจช่วยดึงดูดคนที่มีความสามารถให้อยากมาร่วมงานกับองค์กรมากขึ้นตามไปด้วย

โปรแกรมการพัฒนาศักยภาพ

หลายบริษัทต้องอาศัยการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในธุรกิจ หนึ่งในหัวใจสำคัญของการปรับตัวคือการพัฒนาศักยภาพของพนักงานที่ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้มีชัยเหนือคู่แข่ง โดยรูปแบบการพัฒนาศักยภาพพนักงานที่ได้รับความนิยมที่สุด ได้แก่ การหมุนเวียนงาน และโปรแกรมการฝึกอบรม/การเรียนรู้ด้วยตนเอง

ในปีที่ผ่านมา มีบริษัทจำนวน 7% จากผลสำรวจที่ใช้วิธีการหมุนเวียนงาน และมีแผนจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 7% ในปีนี้ ส่วนวิธีการใช้โปรแกรมการฝึกอบรม/การเรียนรู้ด้วยตนเอง มีแผนจะปรับเพิ่มขึ้น 5% ส่วนอีก 8% กำลังอยู่ในแผนพัฒนาศักยภาพรูปแบบใหม่ต่อไปในอนาคต สิ่งต่างๆ เหล่านี้บ่งชี้ว่าการยกระดับทักษะและการศึกษาอย่างต่อเนื่องถือเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยให้พนักงานรับมือกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกธุรกิจ

สวัสดิการด้าน Work Life Balance

แม้เทรนด์ Work Life Balance จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่นิยมกันอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากพนักงานต่างผลักดันให้บริษัทเน้นการสนับสนุนด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจของพนักงานให้มากขึ้น จาหการสำรวจพบว่าบริษัทต่างๆ มุ่งมั่นที่จะสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ด้วยการสไตล์การทำงานให้แบบ Hybrid มากยิ่งขึ้น เพื่อให้พนักงานได้รับความยืดหยุ่นในเรื่องของสถานที่และเวลาทำงานได้

จากการสำรวจในส่วนของเรื่องกิจกรรมต่างๆ ภายในออฟฟิศที่พนักงานสนใจมากที่สุด นำมาเป็นอันดับหนึ่งที่ 65% กับเรื่องของการท่องเที่ยวและการเทคคอร์สพิเศษ ตามมาด้วย 61% กับเรื่องของการแต่งกายแบบฟรีสไตล์ภายในออฟฟิศ ต่อมาที่ 54% กับเรื่องเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น และ 49% กับเรื่องของอาหารการกินฟรีในออฟฟิศ

นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการด้าน Work Life Balance อื่นๆ ที่หลายบริษัทนิยมมอบให้พนักงาน ได้แก่ สถานที่ทำงานที่ยืดหยุ่น การลาก่อนเวลาในช่วงเทศกาล อาหารฟรี ความบันเทิง และโครงการช่วยเหลือพนักงาน รวมไปถึงการดูแลเรื่องสุขภาพใจของพนักงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมการพูดคุยหรือการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต วันหยุดเพื่อพักสุขภาพใจ และการสมัครเข้าร่วมแอปพลิเคชันปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เป็นต้น

สวัสดิการสำหรับครอบครัวพนักงาน

การขยายสวัสดิการเพิ่มเติมไปยังครอบครัวของพนักงานนั้น ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามจากผลสำรวจมีหลายบริษัทที่กำลังวางแผนเพิ่มสวัสดิการประเภทนี้ให้กับพนักงานในอนาคต ได้แก่ การมีห้องให้นมลูกสำหรับคุณแม่มือใหม่ในออฟฟิศ ประกันสุขภาพสำหรับคนในครอบครัวพนักงาน หรืองบการศึกษาสำหรับลูกพนักงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของกิจกรรมพิเศษสำหรับคนในครอบครัวพนักงาน โปรแกรมตรวจสุขภาพสำหรับคนในครอบครัวพนักงาน หรือจัดทำมุมนั่งเล่นภานในออฟฟิศ รวมไปถึงเรื่องการดูแลสุขภาพใจคนในครอบครัวพนักงานด้วยเช่นกัน

สวัสดิการอื่นๆ

จากที่ Jobsdb ได้สำรวจเรื่องสวัสดิการบริษัทต่างๆ ก็พบว่ายังสวัสดิการอื่นๆ ที่น่าสนใจที่หลายบริษัทนิยมมอบให้พนักงานอีกด้วย อาทิ ค่าเดินทาง (ค่าน้ำมันหรือค่าทางด่วน) สำหรับการไปทำงานนอกสถานที่ ค่าโทรศัพท์และค่าบริการเครือข่ายสำหรับการทำงาน ค่าจอดรถในตึกสำนักงาน บริการรถรับส่งของบริษัท ค่าอินเทอร์เน็ต หรือค่าซักรีด เป็นต้น

สรุปเทรนด์ตลาดงานและผลตอบแทนสำหรับพนักงานปี 2567

จากเทรนด์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันทำให้หลายบริษัทเริ่มตื่นตัวในการดูแลพนักงานมากขึ้น เพื่อดึงดูดให้พนักงานที่มีความสามารถอยู่กับบริษัทให้ได้นานที่สุด อีกทั้งยังเป็นการช่วยดึงดูดคนที่มีความสามารถคนอื่นๆ ให้อยากเข้ามาร่วมงานกับบริษัทอีกด้วย หากบางบริษัทไม่มีการปรับตัว ก็อาจทำให้เสียคนมีฝีมือไปให้คู่แข่งที่พร้อมหยิบยื่นสิทธิประโยชน์ให้พนักงานได้มากกว่านั่นเอง

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดรายงานการจ้างงาน ค่าตอบแทน และสวัสดิการประจำปี 2567 ได้ที่นี่

สมัครรับคำแนะนำเกี่ยวกับการจ้างงาน

รับข่าวสารเกี่ยวกับ คำแนะนำการจ้างงาน ผ่านทางอีเมลของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา