People’s First Culture วัฒนธรรมที่ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญ
People’s First Culture เป็นเทรนด์ใหม่ของโลกการทำงานที่ทุกองค์กรควรจับตามอง และนำมาปรับใช้ในองค์กรของตนเอง เพราะสิ่งนี้จะเป็นตัวแสดงให้พนักงานทุกคนเห็นว่า บริษัทไม่ได้มองตัวพนักงานเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ในการขับเคลื่อนองค์กรเท่านั้น แต่เป็นการทำให้พนักงานทุกคนรู้ว่าตนเองมีคุณค่าต่อองค์กรอย่างไร และทุกคนในองค์กรจะมีจุดร่วมเดียวกัน มีความเท่าเทียมกัน เข้าใจซึ่งกันและกัน มีกำลังใจในการทำงาน และผลักดันให้บริษัทเติบโตไปด้วยกัน
ในบทความนี้ เราจะมาอธิบายให้คุณเข้าใจว่า People’s First Culture คืออะไร? ทำไมต้องมีอยู่ในทุกองค์กร พร้อมคำแนะนำเพิ่มเติมถ้าคุณอยากจะสร้าง People’s First Culture ที่ดี ควรเริ่มต้นและลงมือทำอะไรบ้าง?
ทำความเข้าใจ People’s First Culture คืออะไร?
People’s First Culture คือวัฒนธรรมองค์กรรูปแบบหนึ่ง ที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างคุณค่าและมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่พนักงาน เพื่อพนักงานทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข มองทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างลื่นไหล รวมทั้งมีสุขภาพจิตที่ดีและสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่ง People’s First Culture นั้น จะครอบคลุมทั้งในส่วนของสวัสดิการที่ตอบโจทย์, เงินเดือนที่เหมาะสม, หน้าที่การงานที่มั่นคง, บรรยากาศในการทำงานที่ดี, ระบบการทำงานที่ชัดเจน และรวมไปถึงเรื่องของการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ช่วยคลายความเครียดจากการทำงานเช่นกัน
People’s First Culture เป็นการให้ความสำคัญกับ “คน” จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเจาะจงไปที่ใครคนใดคนหนึ่ง หรือทำให้ใครมีอำนาจเหนือผู้อื่นที่เห็นได้อย่างชัดเจน อาทิ คนที่อยู่มานานสามารถเลือกสิ่งที่ดีกว่าคนอื่น ๆ ได้ หรือได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนอื่น (วันลา วันหยุด เวลาเข้างาน) เป็นต้น
หากองค์กรเลือกให้ความสำคัญกับคนใดคนหนึ่งเช่นนี้ จะมีปัญหาตามมามากมาย เพราะองค์กรจะถูกมองว่ามีระบบ “ลูกรักลูกชัง” และ “สองมาตรฐาน” ทำให้คนใหม่ ๆ รู้สึกว่าอยู่ไปแล้วก็ไม่มีคุณค่าอะไร ยังไงองค์กรก็ให้ความสำคัญกับคนเหล่านั้นอยู่ดี สู้ออกไปอยู่ที่ใหม่ยังดีเสียกว่า ซึ่งคงจะไม่ดีนักหากองค์กรของคุณมีคนลาออกไปทุก ๆ เดือน
อยากสร้าง People’s First Culture ควรทำอย่างไร?
ทุกวันนี้ “เงินเดือน” ไม่ใช่สิ่งเดียวที่คนยุคใหม่มองหาในที่ทำงานอีกต่อไป เพราะถึงแม้ว่าเงินเดือนจะดีมากแค่ไหน แต่ไร้การซัปพอร์ตในด้านต่าง ๆ จากบริษัท แถมวัฒนธรรมขององค์กรก็ยังไม่ตอบโจทย์เข้าไปอีก ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนยุคนี้จะเลือกเดินทางอื่น โดยการลาออกจากบริษัทไป เพื่อตามหาองค์กรที่เหมาะกับตัวเองมากกว่า
สำหรับองค์กรใด ที่กำลังมองหาวิธีการสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศการทำงานที่ดีในองค์กร อยากสร้าง People’s First Culture ที่ดี เพื่อมัดใจพนักงานเก่าให้อยู่กับเรานาน ๆ และอยากดึงดูดใจผู้สมัครหรือผู้ที่กำลังมองหางานอยู่ ให้สนใจองค์กรของตน สามารถเริ่มต้นจากคำแนะนำในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ได้เลย!
สวัสดิการ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสวัสดิการที่ดีเป็นสิ่งแรก ๆ ที่หลายคนมองหา และยังเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ใช้ในการประกอบการตัดสินใจว่าจะเลือกทำงานที่บริษัทใดอีกด้วย สวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทุกองค์กรควรมีให้ ประกอบไปด้วยสิทธิประกันสังคม, วันหยุด-วันลาตามกฎหมาย, เวลาทำงานที่เหมาะสม (ทำงาน 8 ชั่วโมงและพัก 1 ชั่วโมง), ห้องน้ำที่สะอาด, น้ำดื่ม, กระดาษชำระ ฯลฯ
ส่วนสวัสดิการอื่น ๆ ที่สามารถครองใจพนักงานให้อยู่กับเรานาน ๆ ได้ คือ การปรับเงินเดือนประจำปี, โบนัสประจำปี, เบี้ยขยัน, ค่าทำงานล่วงเวลา (OT), เงินออมพิเศษ, ประกันสุขภาพ, ประกันชีวิต, ประกันอุบัติเหตุ, ค่าเดินทาง, ค่าอาหาร, ค่าน้ำมันรถ, ค่าคลอดบุตร และอื่น ๆ มากมาย ยิ่งมีมาก ยิ่งทำให้พนักงานพึงพอใจมากขึ้นเท่านั้น
เครื่องมือ-อุปกรณ์
ผลงานที่มีคุณภาพ ย่อมมาจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์เช่นนี้ได้ คงไม่พ้นการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับงาน ครบครัน และทันสมัย ทุกองค์กรควรเอางบมาลงทุนในส่วนนี้ด้วย เพราะอุปกรณ์ที่ล้าสมัย เก่าเกินไป ค้างบ่อย หรือไม่เหมาะกับงาน จะทำให้งานไม่ราบรื่นหรือติดขัดอยู่เป็นประจำ นอกจากจะทำให้ตัวงานออกมาไม่ดีและช้าแล้ว ยังทำให้คนทำงานรู้สึกหมดไฟในการทำงานอีกด้วย
สำหรับเครื่องมือ-อุปกรณ์ในการทำงานที่ทุกองค์กรควรมีให้แก่พนักงานทุกคน ได้แก่ คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊ก, อินเทอร์เน็ต, โปรแกรมที่ใช้ในการทำงาน และยังรวมไปถึงเครื่องมือบริหารจัดการงานภายในองค์กร อย่าง ClickUp, Slack หรือ Google Tools ต่าง ๆ ที่จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น ติดตามงานได้ทุกขั้นตอน และสามารถนำไปวัดประสิทธิภาพการทำงานของแต่ละบุคคลได้
บรรยากาศในการทำงาน
บรรยากาศในการทำงานที่ดีและไม่ Toxic จะช่วยให้ทุกคนทำงานได้อย่างมีความสุข มีกำลังใจในการทำงาน ไม่รู้สึกว่าถูกบั่นทอนจิตใจ จะทำให้ผลงานออกมาดีตามไปด้วย ทางองค์กรควรเริ่มต้นสร้างบรรยากาศที่ดีตั้งแต่การคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน ควรเลือกคนที่เหมาะกับองค์กรและเข้ากับทีมได้เข้ามา เพราะถ้าคนในทีมมองภาพไม่ตรงกัน อาจทำให้เกิดปัญหาในการทำงานตามมาได้ ซึ่งจะทำให้บรรยากาศในการทำงานแย่ลง และงานที่ได้ก็ไม่มีคุณภาพด้วย นอกจากนี้ องค์กรสามารถสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี จากวิธีต่อไปนี้ได้เช่นกัน
ตกแต่งออฟฟิศปลอดโปร่ง มีแสงสว่างอย่างเพียงพอ เพื่อให้เหมาะกับการทำงาน
ตกแต่งออฟฟิศตามเทศกาลต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้สดชื่น ไม่น่าเบื่อหน่าย
จัดกิจกรรมคลายเครียด อาทิ ทานอาหารร่วมกันในวันศุกร์, จัด workshop, พาพนักงานไปเล่นกิจกรรมข้างนอก หรือจัดปาร์ตี้เล็ก ๆ ในบริษัท
การเข้างานที่ยืดหยุ่น เช่น Work From Home, Work From Anywhere, Hybrid Working หรือ Remote Working เพื่อสนับสนุนให้พนักงานสามารถทำงานในรูปแบบที่เหมาะกับตัวเองได้ อาจจะเริ่มต้นจาก 1 วัน/สัปดาห์ก่อน และค่อย ๆ เพิ่มจำนวนวันขึ้นตามความเหมาะสม เมื่อ Performance เป็นที่น่าพึงพอใจ
เปิดพื้นที่ให้ทุกคนในองค์กรแสดงความคิดเห็นได้ในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือองค์กรก็ตาม เพื่อให้องค์กรได้เข้าใจในมุมมองของพนักงานมากขึ้น และนำความเห็นไปปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ซึ่งเราขอแนะนำให้พื้นที่แสดงความเห็นนี้ เป็นแบบไม่ระบุตัวตนจะดีที่สุด เพราะจะทำให้พนักงานแสดงความคิดเห็นออกมาได้อย่างเต็มที่นั่นเอง
การส่งเสริมด้านทักษะ
องค์กรควรให้การส่งเสริมด้านทักษะของพนักงาน อาทิ การจัดกิจกรรมแชร์ทักษะความรู้ด้านต่าง ๆ ในองค์กร หรือการสนับสนุนค่าคอร์สเรียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงาน เป็นต้น เพราะพนักงานสามารถนำความรู้เหล่านี้ ไปต่อยอดในการทำงานได้ งานจึงมีโอกาสออกมาดีกว่าที่เคย ซึ่งจะส่งผลดีต่อบริษัทด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังทำให้เกิดความก้าวหน้าในอาชีพการงาน (Career Path) ด้วย
People’s First Culture อาจดูเป็นการให้ประโยชน์ต่อตัวพนักงานเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าเรามองดี ๆ และมองลึกลงไปในผลลัพธ์ที่องค์กรได้รับด้วย ต้องบอกเลยว่าวัฒนธรรมองค์กรแบบ People’s First Culture ช่วยมอบประโยชน์และการเติบโตให้กับทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง หากบริษัทของคุณสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่เหมาะสม รับรองได้เลยว่าคุณจะสามารถมัดใจพนักงานได้อย่างแน่นอน! ซึ่งจะช่วยลดอัตราการลาออกของพนักงาน (Turnover Rate) และเพิ่มอัตราการสมัครงานใหม่ได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ