ข้ามไปที่เนื้อหา
Hiring Advice ดูแลพนักงานของคุณ ปลุกพลังคนทำงาน! เมื่อพนักงาน Burnout องค์กรควรทำอย่างไร
ปลุกพลังคนทำงาน! เมื่อพนักงาน Burnout องค์กรควรทำอย่างไร

ปลุกพลังคนทำงาน! เมื่อพนักงาน Burnout องค์กรควรทำอย่างไร

ในปัจจุบันอาการ Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายบริษัทต้องพบเจอ ซึ่งผลกระทบอย่างระยะยาวทั้งกับเรื่องของสุขภาพจิตและคุณภาพของชิ้นงานเอง แถมนอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวพนักงานแล้ว ยังส่งผลเสียต่อบริษัทอีกด้วย มาดูกันว่าองค์กรต่างๆ ควรรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร

อาการ Burnout คืออะไร

อาการ Burnout (Burnout Syndrome) คือ อาการของคนที่ตกอยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นสภาวะที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์ จิตใจ ลามไปถึงร่างกาย ซึ่งความเหนื่อยล้านี้ถูกสั่งสมมาอย่างยาวนานจนเกิดความเครียด และรู้สึกว่าไม่อยากทนกับเรื่องราวแย่ๆ แบบนี้ต่อไป ซึ่งอาการแบบนี้ส่งผลให้คนที่ Burnout รู้สึกไม่อยากตื่นไปทำงาน ไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น

อาการ Burnout มีกี่แบบ

หากมองให้ลึกลงไป เราพบว่าอาการ Burnout นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. Overload Burnout

เริ่มต้นด้วยภาวะ Overload Burnout หมายถึง อาการหมดไฟจากการที่พนักงานคนนั้นต้องแบกรับทุกสิ่งมากจนเกินไป ถือเป็นประเภทของการ Burnout ที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานหนักมากเกินไป จนทำให้การทำงานส่งผลต่อสภาพจิตใจและร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และก้าวเข้าสู่อาการ Burnout ในที่สุด

Overload Burnout นั้นส่งผลกระกบโดยตรงกับบริษัท เพราะการที่พนักงานคนหนึ่งที่ตั้งใจทำงานมาตลอด แต่สุดท้ายกลับต้องแบกรับจำนวนชิ้นงานที่มากเกินรับไหว จนทำให้พวกเขาหมดไฟ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพของชิ้นงานและประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานคนนั้น บริษัทจึงควรเข้ามาดูเรื่องการจัดการแบ่งงานให้ดี มิฉะนั้นคุณอาจต้องเสียพนักงานฝีมือดีไปก็เป็นได้

2. Under-Challenged Burnout

อาการหมดไฟประเภทนี้ คือ การ Burnout จากการหมดความท้าทายในการทำงาน มักเกิดกับพนักงานที่เนื้องานของตัวเองย่ำอยู่กับที่ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซ้ำซากจำเจ หรือต้องทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ กันทุกวัน จนทำให้พวกเขาหมดกำลังใจที่เติบโตในสายงานและหมดไฟในตัวเองไปในที่สุด

หากพบเจอพนักงานที่กำลังมีอาการ Under-Challenged Burnout นั่นแปลว่าบริษัทอาจมอบหมายงานที่ไม่ตรงกับความสามารถของเขา หรือไม่เห็นความสำคัญของพวกเขาเท่าที่ควร จนไม่ได้มอบหมายโปรเจ็กต์สำคัญให้ทำ ดังนั้นองค์กรจึงควรมอบหมายงานชิ้นใหม่ๆ ให้พวกเขารู้สึกมีตัวตนและรู้สึกท้าทายตัวเองยิ่งขึ้น

3. Neglect Burnout

ประเภทสุดท้ายนี้หมายถึงอาการหมดไฟเพราะถูกละเลยจากบริษัท มักเกิดกับพนักงานที่ไม่ได้รับคำแนะนำที่ดีหรือความช่วยเหลือจากคนในทีม หัวหน้า หรือบริษัท จนไม่สามารถทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย กลายเป็นอาการ Burnout ในที่สุด

บริษัทควรแก้โดยการปรับให้เรื่องของการประสานงานในแผนกนั้นๆ ดีขึ้น หากพบว่ามีทีมไหนขาดประสิทธิภาพในเรื่องนี้ควรรีบปรับและดำเนินการแก้ไข ผสานกับการสร้างกำลังใจและคอยดูแลพวกเขาให้ดีขึ้น ให้เขารู้สึกว่าบริษัทยังพร้อมจะดูแลพนักงานอยู่

สาเหตุของอาการ Burnout

อาการหมดไฟในการทำงานของพนักงานในบริษัท อาจมาจากหลายๆ ปัจจัย ดังนี้

ปัจจัยจากการทำงาน

สาเหตุถือเป็นปัจจัยหลักเลยก็ว่าได้ เริ่มต้นจากเรื่องราวของกฎเกณฑ์ในบริษัทที่เข้มงวดจนเกินไป ไม่มีความยืดหยุ่น จนทำให้พนักงานรู้สึกอึดอัด ตามด้วยบรรยากาศการทำงายภายในทีมที่ล้วนเต็มไปด้วยความเครียด หัวหน้าและคนในทีมไม่คลิกกัน จนส่งผลให้เกิดความกดดันในการทำงาน

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากการทำงานอื่นๆ อีก เช่น

  • พนักงานมีงานในมือมากเกินไป จนเกิดความกังวล

  • ได้ทำงานที่ไม่ถนัด ไม่อยากทำ หรือขาดทักษะโดยตรง

  • เบื่องานที่ทำ เพราะตัวงาน หัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน

  • ขาดการยอมรับจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน

  • ปริมาณงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ ไม่สัมพันธ์กับผลตอบแทน

  • ขาดอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงาน

  • บริษัทขาดวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายที่แน่ชัดให้แก่พนักงาน

  • ขาดการตัดสินที่เป็นธรรมหรือการประเมินผลงานที่ขาดประสิทธิภาพ

  • เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่มีความแน่ชัด ทำให้พนักงานสับสน ทำตัวไม่ถูก

ปัจจัยจากชีวิตส่วนตัว

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้เทรนด์การ Work Life Balance เป็นเรื่องสำคัญ แต่บางบริษัทยังมอบเทรนด์ Work ไร้ Balance ให้พนักงานอยู่ เช่น การมอบหมายงานให้พนักงานมากเกินไป จนกระทบเวลาพักผ่อนส่วนตัว มีการสั่งงานหรือคุยงานนอกเวลางาน จนทำให้พนักงานแยกแยะงานออกจากชีวิตส่วนตัวไม่ได้ ต้องเอาเรื่องงานเก็บกลับไปคิดต่อที่บ้าน จนเกิดความเครียด

รวมไปถึงปัจจัยจากชีวิตส่วนตัวของพนักงานเอง เช่น ปัญหาภายในครอบครัว ภาระหนี้สิน หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานได้เช่นกัน

ปัจจัยจากบุคลิกส่วนตัวของแต่ละคน

บุคลิกของคนที่มัก Burnout จากการทำงาน คือคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ ชอบตั้งความหวังกับเรื่องต่างๆ ไว้สูง จนพาลให้เกิดความเครียดหรือวิตกกังวลมางานจะออกมาไม่มีประสิทธิภาพ หากผลของงานไม่เป็นอย่างที่พวกเขาคิดไว้ หรือหนทางสู่ความสำเร็จมีแต่ขวากหนาม ก็อาจทำให้พวกเขาเหนื่อยล้าจน Burnout ได้ง่ายๆ

อาการของภาวะ Burnout เป็นอย่างไร

องค์กรควรหมั่นตรวจสอบพนักงานบ่อยๆ ว่าพวกเขามีอาการหมดไฟหรือไม่ โดยสามารถสังเกตได้ง่ายๆ จากอาการเหล่านี้

การแสดงออกทางอารมณ์

วิธีนี้ถือว่าสังเกตได้ง่ายที่สุด เพราะพนักงานที่มีอาการ Burnout มักจะเปลี่ยนจากอาการร่าเริงกลายเป็นเศร้าหมอง ขาดความกระตือรือร้น รู้สึกหดหู่ เกิดความเครียด หงุดหงิดง่าย หรือทำงานไปวันๆ เหมือนคนหมดอาลัยตายอยาก จนขาดเป้าหมายในการทำงาน

คุณภาพงานลดลง

คนที่มีอาการ Burnout มักไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น จนอาจส่งผลให้งานเกิดความผิดพลาด ไม่มีความตั้งใจการทำงานเท่าที่ควร ส่งงานได้ไม่ตรงตามเดดไลน์ หรือขาดการสื่อสารกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน

มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน

อาการหมดไฟนั้นส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์และความรู้สึก บางคนหดหู่เศร้าซึมจนไม่อยากทำอะไร แต่บางก็เกิดอาการฉุนเฉียว หรือโมโหง่าย จนอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งภายในทีม หรือเพื่อนร่วมงานแผนกอื่นๆ ได้ง่าย ด้วยการที่ทำงานเป็นสมรภูมิรบ ทะเลาะหรือนินทากันจนบรรยากาศในที่ทำงานเต็มไปด้วยความเครียด

มีทัศนคติในแง่ลบ

บางคนอาจได้รัลผลกระทบจากอาการ Burnout จนกลายเป็นคนที่ทัศนคติติดลบ มองว่าตนเองไร้ศักยภาพในการทำงาน หรือเมื่อทำผิดกลับไปโทษตัวเอง แต่ดันไปโทษเพื่อนร่วมงาน จนไม่สามารถจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้

วิธีดูแลพนักงานจากอาการ Burnout

เมื่อบริษัทรู้แล้วว่าพนักงานในบริษัทมีอาการหมดไฟ ไม่ควรรีรอปล่อยให้ปัญหานี้บานปลาย แต่ควรรีบแก้ไขหนือจุดไฟการทำงานของพวกเขาให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง ดังนี้

ดูแลจัดการในเรื่องปริมาณงาน

พนักงานบางคนเกิดอาการ Burnout จากปริมาณงานที่มากไปจนรับมือไม่ไหว บริษัทจึงควรเข้ามาจัดการเรื่องนี้ด้วยการแบ่งเบาภาระงานจากพนักงานคนนั้น ไปให้พนักงานคนอื่นที่งานไม่เยอะมาก หรือมีการประสานงานระหว่างทีมให้ดีขึ้น ว่าใครต้องรับผิดชอบงานในลักษณะไหน หรืออาจลองรับพนักงานใหม่มาเพิ่ม เพื่อหลีกเลี่ยง Workload ในการทำงาน

ลดความเข้มงวด เพื่อความยืดหยุ่น

เรื่องของกฎระเบียบที่มากเกินไป มักส่งผลให้พนักงานอึดอัดและ Burnout ได้ง่ายๆ บริษัทจึงควรปรับเปลี่ยนให้มีการยืดหยุ่นภายในองค์กรมากขึ้น เช่น เวลาเข้า-ออกงานที่ยืดหยุ่น ปรับการทำงานเป็นแบบ Hybrid Work หรืออนุญาตให้พนักงาน Work from Anywhere ได้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาได้เปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงานใหม่ ช่วยลดความเครียดอันก่อให้เกิดการ Burnout ได้ดีเลยทีเดียว

เน้นการสื่อสารให้มากขึ้น

บางครั้งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจมาจากเรื่องของการสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพ มีการพูดคุยภายในทีมหรือบริษัทน้อยเกินไป จนทำให้หลายอย่างผิดพลาด ดังนั้นจึงควรการมีพูดคุยกันภายในทีมให้มากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางให้คนในทีมเข้าใจการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องการสานสัมพันธ์ของคนในทีม ควรมีกิจกรรมละลายพฤติกรรมหรือทำให้ทุกคนรู้จักกันมากขึ้นทั้งในและนอกเวลางาน

ให้เวลาส่วนตัวกับพนักงาน

พนักงานทุกคนล้วนมีชีวิตส่วนตัวด้วยกันแทบทั้งสิ้น ไม่มีใครชอบที่ต้องทำงานนอกเวลาหรือต้องหอบงานกลับไปทำที่บ้าน จนกระทบเวลาส่วนตัว ดังนั้นบริษัทจึงควรส่งเสริมนโยบายหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องงานในเวลาส่วนตัวของพนักงาน งดสั่งงานในวันหยุด หรือควรแยกแอปพลิเคชันการคุยงานที่ชัดเจน เช่น งดใช้ LINE ในการคุยงาน แต่ให้แอปอื่นโดยเฉพาะ เป็นต้น

ไม่ทิ้งพนักงานไว้ข้างหลัง

บริษัทควรทำหน้าที่เป็นผู้ปรึกษาที่ดีให้แก่พนักงาน ควรหมั่นสังเกตพนักงานทุกคนอยู่เสมอ หากพบว่าใครมีปัญหา ควรเข้าไปพูดคุยทันที หรือหากพนักงานคนไหนเข้ามาขอความช่วยเหลือ ก็ควรเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ระบายถึงปัญหา ตลอดไปจนถึงการรับฟัง และนำสิ่งนั้นมาปรับปรุงให้การทำงานในบริษัทมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สรุปสิ่งที่องค์กรควรทำเมื่อพนักงาน Burnout

สภาวะ Burnout ถือเป็นสิ่งที่พนักงานและตัวองค์กรเองควรใส่อย่างยิ่งในปัจจุบัน แน่นอนว่าการหมดไฟในการทำงานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ ในฐานะบริษัทเองควรตั้งใจดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพื่อการเป็นดูแลพนักงานและรักษาคนที่มีความสามารถให้อยู่กับบริษัทต่อไป

สมัครรับคำแนะนำเกี่ยวกับการจ้างงาน

รับข่าวสารเกี่ยวกับ คำแนะนำการจ้างงาน ผ่านทางอีเมลของคุณ
คุณสามารถยกเลิกการติดตามข่าวสารผ่านช่องทางอีเมลได้ตลอดเวลา โปรดรู้ไว้ว่าเมื่อกด 'ติดตามข่าวสาร' คุณได้ยอมรับเงื่อนไข คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ SEEK