ข้ามไปที่เนื้อหา
Hiring Advice ดูแลพนักงานของคุณ HR ต้องรู้ พนักงานหมดไฟ องค์กรควรทำอย่างไรดี?
HR ต้องรู้ พนักงานหมดไฟ องค์กรควรทำอย่างไรดี?

HR ต้องรู้ พนักงานหมดไฟ องค์กรควรทำอย่างไรดี?

พนักงานหลายคนรู้สึกหมดไฟ (Burnout) HR ต้องทำอย่างไรดี?

องค์กรควรทำอย่างไรเมื่อพนักงานหมดไฟ

เชื่อว่าหลาย ๆ คน คงจะเคยได้ยินสิ่งที่เรียกว่า “การหมดไฟ” หรือ “Burnout” ซึ่งเป็นภาวะที่คนวัยทำงานจำนวนไม่น้อยเลยที่กำลังประสบพบเจอกับภาวะนี้อยู่ ซึ่งภาวะหมดไฟในการทำงานนั้นดูเผิน ๆ อาจจะดูไม่เป็นปัญหาใหญ่นัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากพนักงานเริ่มรู้สึกหมดไฟในการทำงาน ก็อาจส่งผลกระทบกับสุขภาพ สภาวะจิตใจ ความเครียด และคุณภาพของงานที่ทำก็อาจลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือยิ่งไปกว่านั้นอาจส่งผลกระทบภาพรวมกับองค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่มีปริมาณพนักงานที่รู้สึกหมดไฟเป็นจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ องค์กรจึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลและช่วยเหลือพนักงานที่มีภาวะหมดไฟ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานห่างไกลจากภาวะหมดไฟ และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับองค์กรอีกด้วย

ทำความเข้าใจ และรู้จักกับ Burnout Syndrome

ภาวะ Burnout Syndrome เป็นภาวะที่พบมากในคนกลุ่มวัยทำงาน โดยคำว่า Burnout เป็นเหมือนเปลวไฟที่กำลังมอด เปรียบกับ “ไฟในการทำงาน” ที่กำลังมอดดับลง ในความรู้สึกของเหล่าพนักงาน ทำให้ตัวพนักงานเองรู้สึกเบื่อหน่ายกับงานที่ทำ หมดกำลังใจในการทำงานและค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ไปจนถึงความรู้สึกที่ต้องการลาออกจากองค์กรเพื่อไปหาองค์กรใหม่ที่น่าจะตอบโจทย์กว่า

ภาวะ Burnout Syndrome ที่พบได้บ่อยในกลุ่มวัยทำงาน เกิดจากอะไรได้บ้าง?

หากในตอนนี้ คุณเป็นพนักงานในองค์กรสักแห่งอยู่ เชื่อว่าจะต้องเคยพบกับพนักงานบางคนที่มีความรู้สึกหมดไฟและไม่มีความสุขกับการทำงาน ที่ทำงานร่วมอยู่ในองค์กรเดียวกับคุณ ซึ่งปัญหาการหมดไฟของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกันออกไป เช่นกรณีดังต่อไปนี้

งานเยอะ เดอะแบก Overload Burnout

การหมดไฟแบบ Overload Burnout มักพบได้ในกลุ่มพนักงานที่ทำงานหนักมาก และต้องรับภาระงานหลายอย่างเกินไป จนไม่สามารถควบคุมคุณภาพและปริมาณของงานให้ลงตัวได้ เมื่อต้องรับภาระงานที่มากขึ้นจนยากที่จะบริหารจัดการได้ ก็ส่งผลให้เกิดความเครียด วิตกกังวล และร่างกายเหนื่อยล้าจากการต้องทำงานอย่างหนัก จนกลายมาเป็นภาวะหมดไฟ ที่ส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมทีมที่ต้องทำงานด้วยกัน อาจเสียกำลังใจในการทำงานและเกิดภาวะหมดไฟตาม ๆ กันได้

งานเดิม ๆ ไม่มีความท้าทาย Under-Challenged Burnout

การที่พนักงานคนหนึ่งได้ทำแต่งานเดิม ๆ กระบวนการเดิม ๆ ที่ซ้ำไปซ้ำมา หากมองในแง่บวกก็อาจจะช่วยให้พนักงานคนนั้นมีความชำนาญในสิ่งที่ทำอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน หากงานนั้น ๆ ไม่ได้มีสิ่งแปลกใหม่ที่ท้าทายความสามารถของพนักงานเลย หรือไม่ได้มีอะไรใหม่ ๆ ให้ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตนเองต่อ ก็อาจทำให้พนักงานรู้สึกไร้เป้าหมาย และเบื่องานที่ทำอยู่ จนนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงานได้

ถูกมองข้าม ทำไปไม่มีคนเห็น Neglect Burnout

แม้ว่าจะมีความตั้งใจและทุ่มเทกับงานเพียงใด แต่ถ้าพนักงานคนนั้นถูกมองข้ามจากเหล่าเพื่อนร่วมงาน หรือถูกองค์กรละเลยในสิ่งที่พนักงานทำ ก็จะทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกที่ว่าตนเองไม่มีตัวตน ไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน และไม่มีบทบาทสำคัญต่อองค์กร จนเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน เพราะทำไปก็ไร้ความหมาย ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของพนักงานอยู่ไม่น้อยเลย

องค์กรควรทำอย่างไร เมื่อพนักงานรู้สึกหมดไฟ

เมื่อพบว่าพนักงานหลาย ๆ คนในองค์กร กำลังเผชิญกับ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” ซึ่งเป็นภาวะที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมขององค์กรในหลาย ๆ แง่มุม ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทีมที่มีหน้าที่ดูแลทรัพยากรบุคคลอย่างทีม Hr (หรือทีม People ในบางองค์กร) จึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลพนักงานเพื่อลดภาวะหมดไฟที่เหล่าคนในองค์กรกำลังประสบพบเจอ โดยบทความนี้จะขอแนะนำแนวทางที่หลายคนในองค์กรสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหานี้ได้ ดังต่อไปนี้

  • แนะนำ/ให้คำปรึกษา

พนักงานที่รู้สึกหมดไฟในการทำงาน ส่วนหนึ่งแล้วมาจากความรู้สึกที่ขาดคนเข้าใจ หรือคนที่รับฟัง แชร์มุมมองต่าง ๆ บางคนอาจกำลังเจอปัญหาบางอย่างที่ไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไรดี ซึ่งฝ่ายที่ดูแลทรัพยากรบุคคลอย่าง Hr ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ด้วยการพูดคุย รับฟังสิ่งที่พนักงานกำลังเจออยู่ แล้วให้คำแนะนำใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น หรือแชร์แนวคิดที่ช่วยปรับทัศนคติที่มีต่องานให้ไปในทางบวกมากขึ้นได้

  • ช่วยบริหารจัดการงานให้เป็นระบบมากขึ้น

หากเล็งเห็นว่าพนักงานกำลังประสบปัญหา Work Overload งานล้นจนยากจะรับมือได้ และมีแนวโน้มที่จะรู้สึกหมดไฟในช่วงเวลาอันใกล้นี้ องค์กรควรเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพนักงาน โดยการเพิ่มช่วงเวลาที่สามารถให้พนักงานได้พักกายและใจจากภาวะกดดันในการทำงาน หรือลองหาเครื่องมือใหม่ ๆ ที่เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระงานของพนักงาน หากเล็งเห็นแล้วว่าภาระงานมากจนไม่สมดุลกับปริมาณพนักงาน ก็ควรรับพนักงานเข้ามาเพิ่มเพื่อให้งานดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

  • เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น

การที่องค์กรเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นกับงานต่าง ๆ ในองค์กร หรือมีหัวหน้างานที่เปิดกว้างทางความคิด ก็จะยิ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับตัวพนักงานเอง และยังช่วยให้พนักงานได้รู้สึกว่ามีส่วนร่วม ได้รับการยอมรับจากคนในองค์กร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นให้พนักงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้นอีกด้วย

  • สนับสนุนให้มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างทีม

การได้ทำงานร่วมกับทีมที่ดี หรือเพื่อนร่วมองค์กรที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มีส่วนเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานให้กับเหล่าพนักงานในองค์กร เมื่อทุกคนในทีมมีความสามัคคีกันก็จะช่วยให้กระบวนการทำงานเป็นไปได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น และลดโอกาสที่พนักงานจะเบื่อหน่ายกับงาน ในทางกลับกันจะช่วยให้รู้สึกอยากมาทำงานมากขึ้นด้วย

  • กิจกรรมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพนักงาน

งานที่ดีนั้นอาจหมายรวมถึงสวัสดิการพนักงานที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าการได้ร่วมงานกับองค์กรนี้ ทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การมีคอร์สเรียนพัฒนาตนเองสำหรับพนักงาน, การซื้อสินค้าราคาพิเศษสำหรับพนักงาน, สวัสดิการประกันภัยสำหรับพนักงาน, สวัสดิการอาหารสำหรับพนักงาน, กิจกรรมเที่ยวประจำปีขององค์กร (Outing) หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีส่วนช่วยเพิ่มความสุขในการทำงานให้กับพนักงานได้

สำหรับเหล่าคนวัยทำงานในยุคนี้ งาน อาจไม่ได้เป็นปัจจัยหลักของชีวิต แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ หากองค์กรใดที่สามารถสร้างบรรยากาศที่ดี ตอบโจทย์ Work-Life Balance ตามที่เหล่าคนวัยทำงานในยุคนี้ต้องการได้ ก็จะลดโอกาสที่พนักงานจะมีภาวะหมดไฟในการทำงาน และยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาบุคลากรที่มีศักยภาพเอาไว้กับองค์กรได้มากขึ้น

สมัครรับคำแนะนำเกี่ยวกับการจ้างงาน

รับข่าวสารเกี่ยวกับ คำแนะนำการจ้างงาน ผ่านทางอีเมลของคุณ
คุณสามารถยกเลิกการติดตามข่าวสารผ่านช่องทางอีเมลได้ตลอดเวลา โปรดรู้ไว้ว่าเมื่อกด 'ติดตามข่าวสาร' คุณได้ยอมรับเงื่อนไข คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ SEEK