ข้ามไปที่เนื้อหา
Hiring Advice ดูแลพนักงานของคุณ พนักงานของคุณทำงานหนักเกินไปหรือเปล่า
พนักงานของคุณทำงานหนักเกินไปหรือเปล่า

พนักงานของคุณทำงานหนักเกินไปหรือเปล่า

คงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าพนักงานของคุณจะลางาน 1-2 วันต่อเดือน ด้วยอาการป่วย แต่ถ้าเค้าเริ่มลาบ่อยขึ้นหละ… คุณจะพิจารณาลดโบนัสรายปี หรือหักเงินเดือนเค้าหรือเปล่า โดยที่คุณมารู้ทีหลังว่า เค้าทำงานเพื่อบริษัทของคุณจนร่างกายป่วย วันนี้ JobsDB มีสัญญาณอันตรายที่จะแจ้งให้คุณรู้ล่วงหน้าว่า คุณกำลังใช้งานพนักงานของคุณหนักเกินไปหรือเปล่า

การเข้าถึงพนักงานของคุณ ถือเป็นหัวใจของการบริหารงานบุคคล เนื่องจากทุกครั้งที่เราสังเกตพบความเปลี่ยนแปลงในตัวพนักงาน และได้มีโอกาสพูดคุยหรือสอบถาม เราจะสามารถประเมิน วางแผน และแก้ไข เพื่อไม่ให้ต้องเสียทั้งงานและบุคลากรที่ดีไป เช่น พนักงานคนนี้ป่วยบ่อย ส่งผลเสียกับงาน แต่ที่ป่วยเหตุเพราะเค้าทำงานล่วงเวลาติดต่อมาเป็นเวลานานเกินไปทำให้สุขภาพย่ำแย่ ในฐานะหัวหน้าหรือผู้ที่มีอำนาจจึงต้องเริ่มสังเกตและแก้ไขแต่เนิ่น ๆ ด้วย 9 สัญญาณอันตราย ว่าคุณกำลังใช้งานพนักงานหนักเกินไป

1. พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ร่าเริง ไม่ค่อยคุย สังเกตจากลักษณะนิสัยเดิมของพนักงานแต่ละคน ย่อมมีความแตกต่างกัน บางคนขยัน ทุ่มเทเพื่องาน ในขณะที่บางคนทำงานแบบวันต่อวัน เหนื่อยก็พัก หัวหน้างานจะรู้จักนิสัยพนักงานของตนเองดี ดังนั้นหากสังเกตพบความเปลี่ยนแปลง ควรสอบถามและสืบหาสาเหตุของการเปลี่ยนไปเหล่านั้น

2. ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เริ่มแยกตัวออกจากสังคม ปฏิเสธความช่วยเหลือและไม่ให้ความช่วยเหลือใคร ทำงานเป็นหุ่นยนต์ ไม่ร่วมกิจกรรมใด ๆ ใครทักทาย พูดคุยด้วยก็เฉยชา นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ่ดี พนักงานของคุณกำลังต้องการความช่วยเหลือ

3. ป่วยบ่อย ลาบ่อย สุขภาพร่างกายเริ่มย่ำแย่ เครียด ทานข้าวไม่เป็นเวลา ทำให้เกิดโรคกระเพาะ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้เป็นไข้หวัด อาการป่วยเหล่านี้ส่งผลไปถึงการทำงาน เช่น ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ขาดบ่อยลาบ่อยทำให้งานช้าทั้งระบบ เป็นต้น

4. ทำงานนอกเวลางาน ทั้งทำที่ออฟฟิศหรือนำกลับไปทำที่บ้าน พนักงานกลุ่มนี้จะมาเช้ากลับดึก เพื่อเคลียร์งานที่ค้างให้เสร็จ หรือในบางครั้งก็จะนำกลับไปทำที่บ้านด้วย จะสังเกตได้ว่านอกจากกระเป๋าสะพายส่วนตัวแล้ว พนักงานของคุณจะมีกระเป๋าอีกใบสำหรับใส่อุปกรณ์และเอกสารเพื่อกลับไปทำที่บ้านเสมอ ๆ

5. เกิดปัญหาความผิดพลาดในการทำงาน Human Error เกิดจากการทำงานหนักมากกว่าศักยภาพที่ตนเองจะสามารถทำได้ หรือทำงานมากเกินไป จึงทำให้เกิดความผิดพลาดได้หลายอย่าง เช่น การตัดสินใจที่ผิดพลาด ทั้งแบบตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ การหลงลืม การตัดสินใจผิด ๆ ด้วยความเชื่อของตนเอง ดังนั้นการให้งานจึงควรดูความสามารถของพนักงานแต่ละคนด้วย เพราะแต่ละคนย่อมมีขีดจำกัดที่แตกต่างกัน

6. เครียดแล้วเก็บกด เนื่องจากความเครียดสะสมทำให้สารเคมีในสมองแปรปรวน รบกวนระบบความคิดให้เสื่อมลง อาการที่แสดงออกก็คือ อาการซึมเศร้า หดหู่ ดูเป็นกังวลกับทุกเรื่อง กลุ้มใจกับทุกสิ่ง นอกจากส่งผลทางจิตใจแล้ว ยังอาจส่งผลต่อร่างกายให้เจ็บป่วยอีกด้วย

7. อารมณ์ฉุนเฉียว ทำลายข้าวของ เมื่องานแยะ ไม่รู้จะระบายออกทางไหน ก็จะเริ่มแสดงออกทางอารมณ์ สีหน้าและการกระทำ เช่น พูดจาตะคอก อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย กระแทกโทรศัพท์หรือข้าวของเมื่อไม่พอใจ หรือแม้กระทั่งบ่น ด่า และสบถด้วยถ้อยคำหยาบคาย

8. ร้องไห้บ่อย การร้องไห้อาจจะเป็นวิธีการระบายความเครียดของใครหลายคน คุณอาจสังเกตพฤติกรรมของพนักงานคุณว่า ร้องไห้บ่อยแค่ไหน เพราะ 1 ใน สาเหตุของการร้องไห้ อาจจะมาจากความเครียดสะสมจากงานที่มากเกินไปก็เป็นได้

9. ไม่ดูแลตัวเอง ปล่อยให้ร่างกายสกปรก เสื้อผ้าไม่สะอาดเรียบร้อย ซึ่งแตกต่างไปจากเดิม อาจจะเนื่องจากใช้เวลากับการทำงานมากจนไม่มีเวลาใส่ใจดูแลตัวเอง ละเลยทั้งร่างกาย เสื้อผ้า และการดูแลความสะอาด เช่น ปล่อยเล็บยาวดำ เสื้อผ้าไม่ซักไม่รีด ปล่อยผมรุงรังไม่สะอาดและเรียบร้อย มีกลิ่นปาก ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ภาพลักษณ์องค์กรดูไม่ดี บ่งบอกถึงความใส่ใจดูแลพนักงาน

พฤติกรรมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปของพนักงานของคุณ ส่วนหนึ่งย่อมแสดงออกถึงความผิดปกติจากการทำงาน หากคุณได้เจอพฤติกรรมต่าง ๆ ข้างต้นที่ jobsDB นำมาเสนอนี้แล้ว พบว่า “ใช่” นั่นแสดงว่า เป็นสัญญาณอันตรายกำลังเกิดขึ้นกับออฟฟิศของคุณ รีบหาทางแก้ไขโดยด่วน

สมัครรับคำแนะนำเกี่ยวกับการจ้างงาน

รับข่าวสารเกี่ยวกับ คำแนะนำการจ้างงาน ผ่านทางอีเมลของคุณ
คุณสามารถยกเลิกการติดตามข่าวสารผ่านช่องทางอีเมลได้ตลอดเวลา โปรดรู้ไว้ว่าเมื่อกด 'ติดตามข่าวสาร' คุณได้ยอมรับเงื่อนไข คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ SEEK