5 วิธีรักษาลูกน้องแสนดีให้อยู่นาน ๆ
“ลูกน้องแสนดี” ... มีใครอยากจะสูญเสียไปบ้าง จะหามาก็ว่ายากแล้ว แต่จะรักษาไว้นี่สิ...ยากยิ่งกว่า แต่หากว่าเรามีกลยุทธ์ที่ดีตั้งแต่ต้นแล้ว การมัดใจลูกน้องแสนดีให้อยู่นาน ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป
มัดใจด้วยผลตอบแทน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ผลตอบแทน” เป็นปัจจัยต้น ๆ ที่มนุษย์เงินเดือนคิดถึง การจะรักษาลูกน้องแสนดีให้อยู่กับเรานาน ๆ จำเป็นที่เราจะต้องรู้อัตราผลตอบแทนที่เขาให้กันในตลาด และให้ลูกน้องคนสำคัญของเราได้รับผลตอบแทนที่เทียบเคียงกันได้ พร้อมสวัสดิการดี ๆ เป็นโปรโมชั่นเสริม เพราะถ้าเขาดูแล้วว่าที่อื่นก็ให้ผลตอบแทนไม่ต่างกัน แถมงานก็ไม่มีอะไรให้หนักใจเกินไป ลูกน้องคนเก่งของคุณจะหนีไปไหนเสีย
แต่ถ้าคุณไม่มัดใจเขาตั้งแต่ต้น คิดว่าเอาไว้สู้โดยขึ้นเงินเดือนแข่งกับบริษัทใหม่เมื่อเขาลาออก ถึงตอนนั้นอะไรๆมันอาจจะสายไปแล้วก็ได้ และเขาก็อาจเกิดความรู้สึกไม่ปลื้มขึ้นมาว่า ทำงานให้บริษัทมาตั้งนาน...เพิ่งจะมาเห็นคุณค่าตอนเราจะออก ค่อยใช้เงินมารั้งตัวเราไว้ก็เป็นได้
บอกความคาดหวังให้ชัด
ลูกน้องแสนดีมักต้องการรู้สิ่งที่องค์กรคาดหวังจากตัวเขาอย่างชัดเจน เพื่อลงมือทำให้สำเร็จลุล่วง ดังนั้นหัวหน้างานจึงควรกำหนดเป้าหมายการปฏิบัติงานไว้ให้ชัดเจน และสื่อสารให้เขาทราบ และเมื่อเวลาผ่านไป...ควรมีการพูดคุยทบทวนผลการปฏิบัติงาน เมื่อลูกน้องทำอะไรได้ดี ก็ควรกล่าวชมเชย พร้อมชี้แนะในส่วนที่เขาควรปรับปรุงเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น
เส้นทางก้าวหน้าต้องมี
หัวหน้าที่ดีมีหน้าที่สร้าง “เส้นทางก้าวหน้าในอาชีพ” ให้ลูกน้อง โดยเฉพาะลูกน้องแสนดี ให้พวกเขาเติบโตไปกับองค์กร โดยควรสื่อสารให้เขารู้ career path ของตัวเองที่ทำได้จริง และส่งเสริมสนับสนุนเขาในด้านต่าง ๆให้เดินไปสู่เส้นชัยได้ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดชี้แนะ การให้ข้อคิดเห็น หรือการฝึกอบรมต่าง ๆ เมื่อเขามองเห็นเส้นทางสู่อนาคตที่สดใสอย่างแจ่มชัด ก็มีแนวโน้มที่จะเดินเคียงข้างไปกับองค์กรไม่จากไปไหน
และองค์กรเองก็มีส่วนช่วยส่งเสริมเรื่องนี้ได้ โดยให้โอกาสรับคนในก่อนเมื่อมีตำแหน่งว่าง ซึ่งก็จะทั้งช่วยเพิ่มโอกาสก้าวหน้าให้กับคนใน และรักษาคนเก่งที่อยากค้นหาความท้าทายใหม่ให้อยู่กับองค์กรต่อไป
เป็น “โค้ชที่ใส่ใจ”
ไม่ว่าลูกน้องคนไหนก็คงต้องบอกลาหัวหน้าที่เป็น “จอมสั่ง” โดยไม่ฟังเสียงลูกน้องเลย ตรงกันข้ามลูกน้องแสนดีมองหาหัวหน้าที่เป็นเหมือน “โค้ช” ที่ให้อำนาจดำเนินการ ให้เครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องการ และพื้นที่ในการทำงานแก่เขาอย่างเหมาะสม และเป็นคนที่ลูกน้องเข้าถึงได้เมื่อประสบปัญหา
โค้ชที่ดียังใส่ใจในตัวลูกน้อง หมั่นพูดคุยกับลูกน้องแต่ละคน ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบในงานที่ทำ และสิ่งที่พวกเขาอยากทำเพื่อพัฒนาตนเองและองค์กร ความใส่ใจนี้จะเป็นวัคซีนชั้นเลิศให้ลูกน้องแสนดีไม่เอาใจออกห่างองค์กร
ชื่นชมให้เห็น
หัวหน้าบางคนมีอาการเขินที่จะเอ่ยปากชมลูกน้อง ทึกทักเอาว่าลูกน้องก็ต้องรู้อยู่แล้ว แต่หัวหน้าคะ...ลูกน้องทุกคนล้วนอยากได้ยินได้เห็นการชื่นชมจากปากของหัวหน้านะคะ โดยนอกจากตัวเงินแล้ว ยังมีอีกสารพัดวิธีที่จะแสดงความชื่นชมลูกน้องแสนดีได้หัวใจพองโต อยากอยู่กับองค์กรไปนาน ๆ เช่น จัดงานปาร์ตี้พนักงานดีเด่น เลี้ยงมื้อใหญ่ฉลองโปรเจคสำเร็จ หรือแม้แต่อนุญาตให้ทีมกลับบ้านเร็วกว่าปกติช่วงก่อนวันหยุดยาว
เพราะ “ลูกน้องแสนดี” เป็นเหมือนแขนขาที่แข็งแกร่งทรงพลังขององค์กร การรักษาพวกเขาไว้แม้จะเหนื่อยยากบ้าง แต่ผลลัพธ์ที่ได้มักจะคุ้มค่าเสมอ
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
5 สัญญาณ พนักงานหมดใจกับงาน
วิธีสร้างกำลังใจให้พนักงาน