กลยุทธ์รักษาพนักงานให้ทำงานกับองค์กรนาน ๆ
กว่าจะปั้นพนักงานเก่ง ๆ ขึ้นมาได้สักคน บริษัทก็ต้องทุ่มเททั้งเวลาและเงินทองไปมากมาย แต่หลายต่อหลายครั้งพนักงานเก่งกลับเลือกที่จะเดินจากองค์กรไปอย่างน่าเสียดาย ปัญหานี้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทั้งบริษัทเล็กใหญ่ต่างก็ค้นหาวิธีการดี ๆ ในการรักษาพนักงานให้ทำงานกับองค์กรนาน ๆ แต่ก่อนที่จะศึกษาว่ามีวิธีอะไรกันบ้างนั้น เราควรลองมาดูที่ต้นเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้คนลาออกกันก่อนค่ะ
เหตุผลที่คนทำงานลาออกหลัก ๆ แล้วมีเพียงสองข้อ คือ ปัจจัยภายนอก (pull factor) เช่น โดนซื้อตัว เพื่อนมาชวนไปทำงาน ต้องไปรับช่วงต่อกิจการของครอบครัว ปัจจัยเหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากกว่าปัจจัยอีกประเภทหนึ่งนั่นคือ ปัจจัยภายใน (push factor) ซึ่งหมายถึงสาเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในตัวองค์กรเอง ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละที่ สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญคือ ปัจจัยภายในที่เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้มากกว่า อย่างไรก็ตามในหลายกรณี เมื่อเราสามารถสร้างบรรยากาศที่ดีภายในองค์กรได้แล้วย่อมสามารถทำให้เกิดความรัก ความภาคภูมิใจในองค์กร และช่วยลดความเสี่ยงของปัจจัยภายนอกลงได้บ้างอีกด้วย เทคนิคการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ มีดังต่อไปนี้
สร้างความก้าวหน้า
คงไม่มีใครอยากทำงานในตำแหน่งเดิมไปตลอดอายุงาน โดยเฉพาะพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ ดังนั้นการสร้างระบบให้พนักงานเห็นว่าตนเองมีโอกาสเจริญเติบโตในองค์กรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเมื่อใดที่พนักงานเห็นว่าการทำงานอยู่ที่นี่พวกเขาจะไม่มีทางไปได้สูงกว่าตำแหน่งที่เป็นอยู่มากนัก โอกาสที่พวกเขาจะมองหางานใหม่หรือตอบรับข้อเสนอจากที่ทำงานแห่งใหม่ย่อมสูงขึ้นเป็นเท่าตัว นอกจากนี้ผู้บริหารยังควรมีการสื่อสารกับพนักงานเป็นระยะ เพื่อทำความเข้าใจเป้าหมายในหน้าที่การงานของพวกเขาและช่วยเหลือให้เกิดความก้าวหน้าอย่างเหมาะสม
ประเมินที่ผลงาน
หากพนักงานที่เก่ง ที่มีความสามารถ แต่ไม่ได้รับการยอมรับ พวกเขาก็ย่อมต้องมองหาทางเลือกอื่นให้ตัวเองเป็นธรรมดา บริษัทแห่งไหนใช้ผลงานเป็นตัวชี้วัด ย่อมทำให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทำงานได้ดีและได้รับการยอมรับจากหัวหน้า พนักงานก็ย่อมเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจและอยากทำงานให้ดีมากยิ่งขึ้นไปอีก เกิดเป็นวงจรที่ดีขึ้นซึ่งให้ประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย เมื่อใดที่บริษัทใช้เพียงความอาวุโสหรือปัจจัยอื่น ๆ นอกจากผลงานและความสามารถให้มามีส่วนในการประเมินผลงานมากไป คนเก่งในองค์กรย่อมรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมและนั่นก็จะเป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเขาคิดย้ายที่ทำงาน
เลือกพนักงานที่ใช่
บริษัทส่วนมากมักจะเลือกพนักงานโดยดูจากประวัติการเรียนและการทำงานเป็นหลัก โดยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับทัศนคติของพวกเขา ซึ่งสุดท้ายแล้วมักจะส่งผลให้พนักงานไม่สามารถอยู่กับองค์กรได้ยาวนานอย่างที่คิด ดังนั้นนอกจากบริษัทควรจะต้องมองหาพนักงานที่มีคุณสมบัติครบเหมาะสมกับตำแหน่งที่ต้องการแล้ว ยังควรจะต้องมองหาคนที่มีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกันกับจุดมุ่งหมายและวัฒนธรรมขององค์กรอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากองค์กรของคุณมีการใช้ระบบแบบเอเชีย คือยังมีการอ้างอิงความอาวุโสอยู่มาก อาจจะไม่เหมาะกับคนที่กล้าแสดงออกและต้องการพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น พวกเขาจะเหมาะกับการทำงานกับบริษัทที่มีวัฒนธรรมแบบตะวันตกมากกว่า ดังนั้นคุณต้องเข้าใจว่าองค์กรต้องการบุคคลากรแบบใดก่อนจึงจะสามารถคัดเลือกคนได้อย่างเหมาะสม
ใช้ข้อมูลอย่างเป็นระบบ
การดูแลพนักงานอย่างต่อเนื่องต้องอาศัยข้อมูลทางสถิติประกอบด้วย ไม่ควรคิดเอาเองจากมุมมองของผู้บริหารฝ่ายเดียว โดยสามารถเก็บข้อมูลจากพนักงานปัจจุบัน เช่น แบบสำรวจความพึงพอใจของพนักงาน สามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับด้านต่าง ๆ ที่บริษัทจะสามารถช่วยเหลือให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้น อย่างไรก็ตามควรทำเป็นแบบไม่ออกนามเพื่อให้พนักงานมีความกล้าที่จะประเมินออกมาตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ สถานที่ทำงาน ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย เจ้านาย เรื่องงานเป็นต้น ส่วนสำหรับพนักงานที่ลาออกก็ควรมีการเก็บข้อมูลเช่นกัน ถามถึงสาเหตุที่พวกเขาเลือกจะจากไป เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้พัฒนาปรับปรุงในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่ทุกองค์กรหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตราบใดที่องค์กรยังขับเคลื่อนไปก็ย่อมต้องมีทั้งคนเข้าใหม่และคนลาออก ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริหารจะทำได้คือ เข้าใจเหตุผลที่ทำให้คนในบริษัทลาออก แล้วนำมาวิเคราะห์และประเมินเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงลงให้ได้มากที่สุดค่ะ