ข้ามไปที่เนื้อหา
Market Insights แนวโน้มอัตราเงินเดือน ปรับเงินเดือนพนักงานอย่างไร? ไม่ให้เกิดดราม่า
ปรับเงินเดือนพนักงานอย่างไร? ไม่ให้เกิดดราม่า

ปรับเงินเดือนพนักงานอย่างไร? ไม่ให้เกิดดราม่า

ขึ้นชื่อว่าเป็นพนักงานบริษัทหรือที่หลายคนขนานนามกันว่าเป็นมนุษย์เงินเดือน ก็ย่อมต้องคาดหวังเรื่องของผลตอบแทนอย่างเงินเดือนเป็นของธรรมดา จากการที่เขาทุ่มเททำงานให้บริษัทอย่างหนักหน่วง กลับกันในฐานะเจ้าของบริษัทก็ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างในการปรับเงินเดือนให้แก่พนักงานเช่นกัน แต่จะมีวิธีไหนหรือหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง ที่จะทำการให้ปรับเงินเดือนเกิดความยุติธรรมและไม่เกิดเรื่องราวดราม่าขึ้นในองค์กร ตามไปดูกันเลย

การปรับเงินเดือนพนักงาน ควรพิจารณาจากอะไรบ้าง

การปรับเงินเดือนให้พนักงานมีประโยชน์ในแง่ของการรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้อยู่กับบริษัทไปนานๆ เพราะนั่นถือเป็นการซื้อใจและการตอบแทนที่พวกเขาตั้งใจทำงาน แต่สำหรับการปรับเงินเดือนพนักงานในมุมมองของบริษัทนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นการใช้ต้นทุนที่สูงอยู่เหมือนกัน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่นำมาประกอบการพิจาราปรับเงินเดือนให้พนักงาน มีดังนี้

ภาพรวมรายปีของบริษัท

ส่วนใหญ่แล้วหลายบริษัทจะใช้ผลประกอบการรายปีมาเป็นหนึ่งส่วนของการพิจารณาปรับเงินเดือนให้พนักงาน ซึ่งถ้าบริษัทไหนมีการปรับเงินเดือนในช่วงสิ้นปี ก็มักจะใช้ผลประกอบการในช่วงนั้นมาเป็นตัวตัดสิน ส่วนบริษัทไหนที่ปรับเงินเดือนต้นปี ก็จะใช้การสรุปผลประกอบการทั้งปีมาเป็นตัวชี้วัดได้เลย

ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นการจูงใจพนักงานที่ทางอ้อมในการช่วยผลักดันให้พวกเขาช่วยกันตั้งใจทำงาน เพื่อสร้างผลกำไรที่ดีงามให้แก่บริษัท จนพวกเขาได้รับผลตอบแทนที่ดีตามไปด้วยนั่นเอง

ข้อตกลงการจ้างงาน

เรื่องของการปรับเงินเดือนพนักงานนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าต้องปรับให้พนักงานเป็นจำนวนแค่ไหน ปีละเท่าไร ดังนั้นการปรับเงินเดือนจึงถือเป็นดุลยพินิจของบริษัทเท่านั้น ดังนั้นแต่ละบริษัทควรกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ไว้ให้ชัดเจน และทำความเข้าใจกับพนักงานแต่ละคนให้กระจ่าง เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต

การประเมินผลงานของพนักงาน

หากบริษัททำการปรับเงินเดือนให้พนักงานทุกคนเท่ากันหมด คงจะมีดราม่าตามมาแน่นอน เพราะพนักงานแต่ละคนต่างมีความสามารถ ทักษะ และความตั้งใจการทำงานที่แตกต่างกัน แต่โดยธรรมชาติแล้วทุกคนก็มักจะต้องบอกว่าตัวเองทำงานดีและตั้งใจทำงานด้วยกันทั้งนั้น บริษัทจึงต้องอาศัยการประเมินผลงานเข้ามาเป็นตัวช่วยในการปรับเงินเดือนของแต่ละคน

วิธีการประเมินนั้นสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการกำหนดเป้าหมายและ KPI ของพนักงานแต่ละตำแหน่งให้ชัดเจน เช่น ความสามารถและทักษะของพนักงาน การพัฒนาตนเอง ความรับผิดชอบ เวลาเข้า-ออกงาน หรือหัวข้ออื่นๆ ตามความเหมาะสม เป็นต้น

การปรับเงินเดือนตามตำแหน่ง

แน่นอนว่าสิ่งที่มาคู่กับการปรับเงินเดือนก็คือการเลื่อนตำแหน่ง พนักงานบางคนอาจมีความสามารถและทักษะที่โดดเด่นจนเข้าตาบริษัท หรืออายุงานที่เพิ่มมากขึ้น จนสั่งสมประสบการณ์มาอย่างเต็มที่ และได้รับการเลื่อนขั้นให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น พร้อมด้วยความรับผิดชอบและหน้าที่ที่เพิ่มมากขึ้นด้วยนั่นเอง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บริษัทก็ต้องปรับเงินเดือนให้พวกเขาสูงขึ้นตามตำแหน่งนั่นเอง

อัตราเงินเดือนของบริษัทอื่น

อย่าลืมว่าพนักงานแต่ละคนก็มีเป้าหมายและลู่ทางของตัวเอง พวกเขาพร้อมเสมอในการโยกย้ายไปยังบริษัทที่พร้อมดูแลหรือให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าบริษัทเดิม ดังนั้นจึงควรต้องศึกษาถึงอัตราเงินเดือนของบริษัทอื่นๆ ในสายงานธุรกิจเดียวกันด้วย ว่าบริษัทอื่นให้เงินเดือนพนักงานประมาณเท่าไร หลักการประเมินพนักงานเป็นแบบไหน เพื่อนำมาปรับเงินเดือนของบริษัทเราให้เหมาะสม เพราะเราเชื่อเลยว่าคงมีพนักงานไม่น้อยที่จะนำเอาเงินเดือนของตัวเองไปเทียบกับเพื่อนๆ ที่ทำงานในบริษัทอื่น

แต่ทั้งนี้ก็อาจต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นเสริมด้วยเช่น บริษัทอื่นที่คุณนำมาเปรียบเทียบอาจให้พนักงานทำงานแบบหนักหน่วงเกินเวลา แต่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่าของคุณ หรือบริษัทนั้นอาจมีสวัสดิการพนักงานที่ไม่ครอบคลุมเท่ากับบริษัทของคุณ จนทำให้เขาต้องชดเชยเป็นเงินเดือนแทน เป็นต้น

สภาพเศรษฐกิจของประเทศ

บางครั้งในเรื่องของผลประกอบการบริษัทอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับพนักงานเพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยด้านเศรษฐกิจของประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หากในปีนั้นๆ เศรษฐกิจประเทศค่อนข้างฝืดเคือง ส่งผลให้บริษัททำกำไรไม่ได้ตามเป้าหมาย ก็ย่อมส่งผลต่อการปรับเงินเดือนไม่มากก็น้อย เพราะแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ย่อมสูงตามไปด้วย

แต่อย่างไรเสียหากบริษัทมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าจะมีปรับเงินเดือนให้แก่พนักงานทุกปี การขึ้นเงินเเดือนก็ยังคงต้องดำเนินต่อไปแม้เศรษฐกิจจะแย่เพียงใด เพราะถือเป็นสิ่งที่ทำความเข้าใจกับพนักงานไว้ตั้งแต่แรกแล้ว หากพวกเขาเห็นว่าคุณไม่ทำตามข้อกำหนด ก็อาจทำให้พวกเขาต้องมองหาทางเลือกใหม่ในบริษัทที่พร้อมมอบผลตอบแทนที่ดีกว่าก็เป็นได้

ควรปรับเงินเดือนเท่าไรให้เหมาะสม

ในปัจจุบันตามกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ไม่ได้กำหนดไว้ว่าในแต่ละปีนายจ้างต้องปรับเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่าใด แต่เพียงแค่ระบุไว้ว่า “บริษัทควรปรับเพิ่มเงินเดือนให้กับ ลูกจ้าง/พนักงาน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน” ดังนั้นบริษัทจึงควรอาศัยการประเมินพนักงานเข้ามาช่วยพิจารณาตามหลักที่เราแนะนำไปข้างต้น เพื่อเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินเดือนที่ปรับขึ้นของแต่ละคนให้เหมาะสมและยุติธรรมที่สุด

สาเหตุที่พนักงานไม่พอใจเรื่องการปรับเงินเดือน

ทุกบริษัทมักหลีกเลี่ยงการเมืองภายในหรือเรื่องดราม่าไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องของเงินๆ ทองๆ ที่ถือเป็นปากท้องของพนักงาน มาดูกันว่าจะมีสาเหตุอะไรบ้างที่อาจทำให้พนักงานรู้สึกไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการปรับเงินเดือน

ระบบการประเมินพนักงานไม่มีประสิทธิภาพ

ส่วนใหญ่แล้วระบบที่ใช้ในการประเมินพนักงานมักเป็นการวัดพฤติกรรมคน ซึ่งเป็นเพียงความรู้สึกจากผู้ประเมินหรือหัวหน้าเพียงคนเดียว บางครั้งเราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหัวหน้าบางคนมาพร้อมกับความอคติ การมีลูกรักลูกชังภายในทีม ส่งผลให้การประเมินตามมาด้วยความลำเอียง ทำให้การประเมินด้วยการวัดผลงานจึงไม่ค่อยสอดคล้องกับเนื้องานเท่าที่ควร และพนักงานก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าต้องทุ่มเทกับงานแค่ไหนถึงจะได้ผลประเมินในระดับที่ดีมาก

งบประมาณในแต่ละแผนก

ในแต่ละบริษัทมักมีการจัดสรรประมาณให้แต่ละแผนกเพื่อดูแลในเรื่องต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งแต่ละแผนกก็จะมีจำนวนพนักงานไม่เท่ากัน บางทีมคนเยอะ บางทีมคนน้อย จนอาจเกิดปัญหาเรื่องการจัดปันส่วนงบประมาณที่ไม่เท่ากัน ส่งผลต่อเรื่องของงบประมาณการปรับเงินเดือนที่แตกต่างในแต่ละทีมอีกด้วย 

ขั้นตอนการปรับเงินเดือนประจำปี

จากข้อมูลข้างต้นที่กล่าวไป อาจสรุปได้ว่าบางครั้งการที่พนักงานดราม่าเรื่องการปรับเงินเดือน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินเสมอไป แต่อาจรวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามาประกอบด้วยมากมาย หน้าที่ของบริษัทก็คือต้องกำหนดเกณฑ์ต่างๆ ให้ชัดเจน ประกาศให้พนักงานรับทราบโดยทั่วกัน หรือคอยชี้แจงถึงข้อกังวลต่างๆ ของพนักงาน

โดยเรามีวิธีแนะนำเบื้องต้นที่จะช่วยให้การปรับเงินเดือนพนักงานเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น มีความยุติธรรม และได้รับการยอมรับจากพนักงานมากขึ้น ดังนี้

แบ่งกลุ่มพนักงานตามระดับตำแหน่ง

การปรับเงินเดือนอาจลองยึดหลักการพิจารณาตามตำแหน่ง เช่น ผู้จัดการ หัวหน้าแผนก หัวหน้างาน หรือพนักงานทั่วไป ซึ่งตำแหน่งๆ ต่างจะสะท้อนถึงระดับผลตอบแทน และทำการปรับเงินเดือนตามหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละตำแหน่ง

กำหนดการปรับเงินเดือนให้สอดคล้องกับการประเมินงาน

เมื่อยึดเปอร์เซ็นต์การปรับเงินเดือนตามตำแหน่งแล้ว ก็ควรคำนึงถึงถึงเรื่องงบประมาณและระดับผลงานด้วย เช่น ถ้าตำแหน่งผู้จัดการในบริษัทได้รับการประเมินผลงานได้ดีมากทุกคน ก็ควรขึ้นเงินเดือนของกลุ่มผู้จัดการให้อยู่เปอร์เซ็นต์ที่เท่ากันทั้งหมด

ดำเนินการปรับเงินเดือนโดย HR

สำหรับการปรับค่าจ้างแบบที่เราแนะนำไป ควรดำเนินการปรับเปอร์เซ็นต์เงินเดือนโดยทีม HR เป็นหลัก เพราะถือเป็นตัวกลางของบริษัทที่หยิบยื่นความเป็นธรรมให้แก่พนักงานได้มากที่สุด หากให้หัวหน้าแผนกเป็นคนกำหนดเปอร์เซ็นต์ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่อความลำเอียงได้ แล้วปัญหาดราม่าก็จะไม่จบไม่สิ้น

ทำระบบประเมินพนักงานให้มีประสิทธิภาพ

การแก้ดราม่าเรื่องปรับเงินเดือน อาจต้องเริ่มตั้งแต่ระบบของการประเมินผลงาน ซึ่งระบบการประเมินที่ดีนั้นจะต้องมาพร้อมกับความโปร่งใส ตรวจสอบได้ วัดผลได้จริง สามารถชี้แจงได้หากพนักงานมีข้อสงสัย และต้องรับรู้ในทุกขั้นตอน รวมถึงพนักงานต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายของการทำงาน สามารถตรวจสอบได้ตลอดว่าในช่วงนั้นผลการทำงานของพวกเขาอยู่ในระดับไหน ปิดท้ายด้วยการปลูกฝังความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในทุกแผนก ให้หัวหน้าแผนกประเมินลูกน้องอย่างไม่มีอคติ

สรุปการปรับเงินเดือนพนักงานที่มีประสิทธิภาพ

การปรับเงินเดือนพนักงานถือเป็นสิทธิ์ที่พนักงานทุกคนพึงได้รับ จากความตั้งใจและความทุ่มเทในการทำงานของพวกเขา ซึ่งทุกๆ การปรับเงินเดือนต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมและเท่าเทียม เพราะนี่ถือเป็นกำลังใจชั้นดีที่ทำให้พวกเขามีความสุขกับการทำงานที่บริษัทของคุณ และช่วยให้คุณรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ให้นานที่สุด

ส่วนบริษัทไหนที่กำลังมองหาผู้มีความสามารถเข้าร่วมทีมด้วย เข้ามาค้นหาโปรไฟล์ของผู้สมัครกับ JobsDB ได้เลย เรารวบรวมข้อมูลผู้สมัครจากทุกสายงานไว้แล้ว พร้อมให้บริการแล้ววันนี้ทั้งในเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน

สมัครรับข้อมูลเชิงลึกของตลาด

คุณสามารถยกเลิกการติดตามข่าวสารผ่านช่องทางอีเมลได้ตลอดเวลา โปรดรู้ไว้ว่าเมื่อกด 'ติดตามข่าวสาร' คุณได้ยอมรับเงื่อนไข คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ SEEK