ข้ามไปที่เนื้อหา
Market Insights ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการจ้างงาน การบริหารงานบุคคลในธุรกิจ SMEs
การบริหารงานบุคคลในธุรกิจ SMEs

การบริหารงานบุคคลในธุรกิจ SMEs

การบริหารงานบุคคลในธุรกิจ SMEs

ในทุกๆ ธุรกิจนั้นการบริหารงานบุคคลถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริหารต้องให้ความใส่ใจ เพราะทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันและขับเคลื่อนองค์กรให้เจริญเติบโต การเผชิญปัญหาด้านงานบุคคลเป็นความท้าทายที่ทุกองค์กรต้องประสบพบเจอ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละองค์กรจะมีแนวทางการรับมืออย่างไร ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง (SMEs) ก็หนีไม่พ้นปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะมีขนาดองค์กรไม่ใหญ่โต  จำนวนบุคลากรไม่มากมายเมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่ แล้วธุรกิจ SMEs จะงัดเทคนิคอะไรมาใช้ในการบริหารงานบุคคลกันนะ เรามีคำตอบมาฝาก

ปัญหาการบริหารงานบุคคลที่ SMEs ต้องเจอ

หากคิดว่าธุรกิจ SMEs ไม่ต้องเผชิญความท้าทายด้านงานบุคคล คุณคิดผิด! เพราะองค์กรขนาดเล็ก มีบุคลากรน้อย ทำงานด้วยวัฒนธรรมแบบครอบครัว ถ้อยทีถ้อยอาศัย โครงสร้างหรือระบบงานไม่ได้แบ่งแยกชัดเจนนัก นั่นหมายถึง พนักงาน 1 คน อาจต้องทำงานมากกว่า 1 หน้าที่ ซึ่งเรามักจะเคยเห็นตัวอย่างธุรกิจ SMEs หลายแห่งที่พนักงานคนเดียวต้องทำหน้าที่ทั้งประชาสัมพันธ์ ประสานลูกค้า แอดมินเพจ ฯลฯ 

เกินขอบเขตงานที่ระบุไว้ในตอนแรก อีกทั้ง แน่นอนว่าในระยะยาวย่อมไม่เป็นผลดีต่อพนักงานและองค์กร เพราะอาจเกิดความเครียดและเหนื่อยล้าสะสม ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน หรืออาจถึงขั้นลาออกจากงานเลยก็ได้ การจะหาพนักงานใหม่ก็มีต้นทุนและกระบวนการที่ใช้เวลา ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเจอปัญหาเดิมวนลูปซ้ำๆ อีก

เทคนิคการบริหารงานบุคคลสำหรับ SMEs

หากถามว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานมี passion ในการทำงาน ให้ใจองค์กรอย่างเต็มที่ และอยู่กับองค์กรไปนานๆ ธุรกิจ SMEs จำเป็นต้องดูแลรักษาความสัมพันธ์กับพนักงาน สร้าง Royalty ต่อองค์กร เพื่อให้พนักงานไม่คิดเปลี่ยนใจไปอยู่กับบริษัทอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งหรือมีขนาดใหญ่ มั่นคงกว่า ที่สำคัญอาจต้องลองพิจารณานำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้

  • ค่าตอบแทนและสวัสดิการโดนใจ

ปัจจัยหลักที่ช่วยจูงใจให้พนักงานทำงานให้องค์กรอย่างเต็มที่ คือ ค่าตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง เงินเดือน ค่าล่วงเวลา โบนัส เบี้ยขยัน ค่าคอมมิชชั่น ต่างก็กระตุ้นกำลังใจพนักงานได้ดี แต่กรณีของธุรกิจ SMEs อาจถือว่ามีค่าตอบแทนที่น้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับสวัสดิการที่คุ้มค่าแทน โดยเลือกสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงาน เช่น การเลื่อนตำแหน่ง, สิทธิวันลาต่างๆ, การทำงานแบบ Work from home, การรักษาพยาบาล, กิจกรรมสันทนาการ, ขนม เครื่องดื่ม สำหรับพนักงาน เป็นต้น แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็อาจโดนใจพนักงานจนสร้างกำลังใจในการทำงานได้อย่างมาก  

  • ชื่นชมคุณค่าของพนักงาน

การที่องค์กรให้ความสำคัญกับพนักงานย่อมเป็นเรื่องดี โดยผู้บริหารหรือหัวหน้างานผลักดันให้พนักงานได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ และทำให้พนักงานได้เห็นว่าพวกเขามีคุณค่าต่อองค์กรอย่างไรบ้าง การชื่นชมและมอบรางวัลพิเศษสำหรับพนักงานดีเด่นก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่สร้างแรงจูงใจให้แก่พนักงาน รวมทั้งการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้พนักงานอย่างครบถ้วน ไม่มีการหวงวิชา

เพื่อให้พนักงานต่อยอดและสร้างสรรค์ผลงานได้ หากมีหลักสูตรที่น่าสนใจก็ส่งพนักงานเข้าร่วมเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง นอกจากจะเป็นผลดีต่อองค์กรแล้ว พนักงานเองก็ยังได้มีวิชาความรู้ติดตัวไปด้วย

  • รักษาพนักงานที่โดดเด่น

พนักงานที่มีความสามารถและโดดเด่นไม่ใช่จะสร้างขึ้นมาได้ง่ายๆ ธุรกิจ SMEs ควรผลิตบุคลากรเหล่านี้ออกมาให้ได้มากและรักษาไว้ให้ดี องค์กรที่พนักงานลาออกบ่อยมักไม่ใช่เรื่องดี ทั้งต่อระบบการทำงานและภาพลักษณ์องค์กร ดังนั้น องค์กรควรสร้างพนักงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วยการพัฒนาทักษะพนักงานอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลสุขภาพจิตใจของพนักงานควบคู่กันไปด้วย

 เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตพนักงาน, การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต, มีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาประจำองค์กรที่คอยรับฟังปัญหาของพนักงานและให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น

  • สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน

ธุรกิจ SMEs ต้องให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ทั้งด้านความสะอาด ความสบายตาสบายใจของผู้ทำงาน ตลอดจนมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เคร่งครัด เช่น รปภ.เฝ้าเวรยาม 24 ชั่วโมง, ระบบสแกนลายนิ้วมือหรือใบหน้า, มาตรการป้องกันเชื้อโรคต่างๆ เป็นต้น 

ปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน โดยเฉพาะกรณีที่พนักงานต้องมาทำงานตั้งแต่เช้าหรือต้องกลับดึกดื่น อย่างน้อยพนักงานก็อุ่นใจทั้งในด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยของตนเอง 

เมื่อเจอปัญหา SMEs จะแก้ไขอย่างไร

แม้จะมีแนวทางป้องกันปัญหาด้านบุคคลแล้ว แต่กรณีที่เกิดปัญหาขึ้นมาในธุรกิจ SMEs จะมีวิธีการอย่างไรในการรับมือและจัดการกับปัญหาเหล่านั้นบ้าง

  • การสื่อสารภายในองค์กรควรมีความชัดเจน สร้างความเข้าใจกับพนักงานทุกระดับให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตอบคำถามและข้อสงสัยอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารควรมีทักษะการเจรจาต่อรองและมนุษยสัมพันธ์ที่ดี หากองค์กรแข็งแกร่งจากภายในย่อมเป็นข้อได้เปรียบในการทำงาน

  • องค์กรไม่ควรปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังหรือมีความคลุมเครือ แต่เมื่อเกิดปัญหาเพียงเล็กน้อยต้องรีบให้ความใส่ใจและแก้ไขทันที เรียกประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดดเข้ามารับทราบปัญหาดังกล่าว ร่วมกันแสดงความคิดเห็น และหาแนวทางป้องกันปัญหาลักษณะเช่นนี้ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต การแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและฉับไวจะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามเกินกว่าจะแก้ไขได้ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือลดความขัดแย้งภายในองค์กร และสร้างความพึงพอใจกับทุกฝ่ายให้ได้มากที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วผลประโยชน์ย่อมตกอยู่ที่องค์กร

  • วางโครงสร้างการทำงานที่เป็นระบบ มีระเบียบแบบแผน เพื่อให้การดำเนินงานของทุกภาคส่วนเป็นไปในทางเดียวกัน ไม่สะเปะสะปะ พนักงานก็โฟกัสเป้าหมายอย่างเต็มที่ โดยไม่เกิดความแคลงใจในระหว่างทางว่าตนเองกำลังทำอะไร ทำไปเพื่ออะไร สุดท้ายแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร ที่สำคัญควรมีการจัดข้อมูลต่างๆ ให้เป็นระบบ วางรากฐานที่ดี นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม ทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งศึกษาและอัพเดตข้อมูลใหม่ๆ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEs, เทรนด์ที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ เป็นต้น เพื่อให้องค์กรเติบโตและพัฒนาการทันยุคสมัยอยู่เสมอ

 แม้ว่าธุรกิจ SMEs จะต้องเผชิญกับปัญหาด้านการบริหารงานบุคคลอย่างต่อเนื่อง แต่หากลองนำเทคนิคที่เราแนะนำไปใช้ดู ก็เชื่อได้ว่าองค์กรเล็กๆ ก็สามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างคนในองค์กรได้อย่างแน่นอน การได้ทำงานในบรรยากาศที่อบอุ่น ดีต่อใจ ดูแลกันเสมือนครอบครัว ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะได้ใจพนักงานอย่างยาวนานแน่นอน

สมัครรับข้อมูลเชิงลึกของตลาด

รับข่าวสารเกี่ยวกับ ภาพรวมตลาดงาน ผ่านทางอีเมลของคุณ
คุณสามารถยกเลิกการติดตามข่าวสารผ่านช่องทางอีเมลได้ตลอดเวลา โปรดรู้ไว้ว่าเมื่อกด 'ติดตามข่าวสาร' คุณได้ยอมรับเงื่อนไข คำชี้แจงสิทธิ์ส่วนบุคคลของ SEEK