ข้ามไปที่เนื้อหา
Market Insights เทรนด์การจ้างงานและเงินเดือน รู้จัก HR Sustainability หรือแนวคิดการสร้างองค์กรให้ยั่งยืน
รู้จัก HR Sustainability หรือแนวคิดการสร้างองค์กรให้ยั่งยืน

รู้จัก HR Sustainability หรือแนวคิดการสร้างองค์กรให้ยั่งยืน

สร้างองค์กรที่ยั่งยืนด้วยแนวคิด HR Sustainability

“HR Sustainability” แนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ทุกองค์กรควรมี เพราะเป็นตัวช่วยในการทำให้องค์กรของคุณกลายเป็นองค์กรที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง! และในปัจจุบันนี้เอง ทุกองค์กรต่างต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ มากมาย ทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และยังรวมไปถึงด้านสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน แม้จะมีองค์กรใหม่ ๆ เกิดขึ้นมามากมายแต่ก็มีองค์กรไม่น้อยเลย ที่ไม่สามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้นานหลายปี ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการที่องค์กรเหล่านั้นมุ่งเน้นที่ผลกำไรเป็นหลัก โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความสมดุลในด้านอื่น ๆ เลยก็เป็นได้

ด้วยเหตุนี้ หลาย ๆ องค์กรจึงหันมาใส่ใจเรื่องของประโยชน์ของสังคมมากขึ้น และได้เริ่มนำ HR Sustainability ไปปรับใช้ในองค์กรอย่างแพร่หลาย สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่า HR Sustainability คืออะไร? คล้ายกับ Green HR ไหม? ทำไม HR Sustainability จึงช่วยให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้เลย!

HR Sustainability คืออะไร?

HR Sustainability คือแนวคิดในการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างยั่งยืน ที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างสมดุลระหว่างผลตอบรับทางธุรกิจ ความรับผิดชอบต่อสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ และในขณะเดียวกันก็ให้ประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย โดยการทำ HR Sustainability จะครอบคลุมทั้งในส่วนของกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจขององค์กร, วัฒนธรรมองค์กรที่ดี, การสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พนักงานไปพร้อม ๆ กัน

HR Sustainability ต่างจาก Green HR อย่างไร?

Green HR เป็นส่วนหนึ่งของ HR Sustainability แต่ Green HR จะเน้นไปที่การทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็นการการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่ดึงเอาความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ามาปลูกฝังให้แก่พนักงาน จนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ทุกคนมีจิตสำนึกในเรื่องของสิ่งแวดล้อม (Green Culture) ขึ้นมา เช่น รู้ว่าควรใช้รถสาธารณะในการเดินทางแทนการขับรถไปทำงานเอง เพื่อลดคาร์บอนไดออกไซด์, มีการใช้น้ำเท่าที่จำเป็น ไม่เปิดน้ำทิ้งไว้นาน ๆ หรือใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด เป็นต้น

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า HR Sustainability จะมีขอบเขตที่กว้างกว่า Green HR อยู่มาก เพราะให้ความสำคัญกับประเด็นสังคมด้วย ไม่ได้เจาะจงด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวเหมือน Green HR

ประโยชน์ของการทำ HR Sustainability

การทำ HR Sustainability ไม่ได้มีประโยชน์แค่ในเรื่องของการทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นเท่านั้น ยังมีประโยชน์กับองค์กรในหลาย ๆ ด้านอีกด้วย ทั้งในเรื่องของต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ภาพลักษณ์ขององค์กร และยังรวมไปถึงเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน อาทิ

  • ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร จากการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ส่งผลให้เป็นที่รักของผู้บริโภคและคนในสังคม

  • ทำให้องค์กรมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้องค์กรเติบโตได้อย่างมั่นคง

  • ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจและอุดหนุนสินค้าหรือบริการของบริษัทมากขึ้น

  • ทำให้ผลกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นที่น่าจับตามองจากนักลงทุน

  • พนักงานมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้องค์กรเป็นที่รักของพนักงาน และสามารถรักษาพนักงานที่มีความสามารถเอาไว้กับองค์กรได้

  • บรรยากาศภายในที่ทำงานดีขึ้น ส่งเสริมให้พนักงานมีความสุข และสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้เต็มที่

  • ต้นทุนทางธุรกิจต่ำลง จากการที่พนักงานใช้ทรัพยากรอย่างกระดาษ ไฟฟ้า และน้ำอย่างประหยัด

  • ทำให้ปริมาณของก๊าซเรือนกระจกลดลง ซึ่งจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้

  • ช่วยลดปริมาณน้ำเสียและมลพิษทางน้ำ มีน้ำสำรองมากขึ้น ป้องกันภัยแล้งได้

  • ลดขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยากและเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก

  • ทุกคนในองค์กรสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

แนวทางการทำ HR Sustainability

1. การกำหนดกลยุทธ์และทิศทางขององค์กร

กำหนดกลยุทธ์ HR Sustainability ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กร โดย HR ควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมในจุดนี้ด้วย เพื่อให้ทุกคนในองค์กรเห็นภาพรวมและเป้าหมายในการทำ HR Sustainability เหมือน ๆ กัน ซึ่งรวมไปถึงการจัดฝึกอบรมและให้ความรู้แก่พนักงานในองค์กร เกี่ยวกับ HR Sustainability และวิธีการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย

2. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมความยั่งยืน

สนับสนุนให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและแสดงความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ทุกคนสามารถนำเสนอสิ่งที่ตัวเองคิด โดยที่ไม่มีกำแพงเรื่องอายุหรือตำแหน่งมากั้น, ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ, องค์กรโปร่งใส และจัดกิจกรรมให้พนักงานมีส่วนร่วมกับสังคม เช่น กิจกรรมปลูกต้นไม้, บริจาคเงินเพื่อปลูกป่า, เก็บขยะในสวนสาธารณะ หรือกิจกรรมจิตอาสาอื่น ๆ เป็นต้น

3. รณรงค์ให้ทุกคนเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม

รณรงค์ทุกคนในองค์กรปฏิบัติตนให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น แยกขยะก่อนทิ้ง, พกถุงผ้า งดรับถุงพลาสติก, พกแก้วน้ำส่วนตัว, พกจานหรือกล่องข้าวไปเอง, ปิดน้ำปิดไฟตอนที่ไม่ใช้, เปลี่ยนไปใช้หลอดไฟ LED, ใช้กระดาษให้ครบทั้งสองด้าน, ตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศในระดับที่เหมาะสม, รีไซเคิลขยะ และปลูกต้นไม้ ฯลฯ

4. ประเมินและให้รางวัลตอบแทน

มีการประเมินพนักงานในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำ HR Sustainability ว่าใครมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากที่สุด ใครใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากที่สุด หรือใครทำผลงานออกมาได้ดีที่สุด จากนั้นก็ให้รางวัลเป็นสิ่งตอบแทน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน พร้อมกับดึงดูดพนักงานคนอื่น ๆ ให้ปฏิบัติตาม

5. ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พนักงาน

หากพนักงานมีสุขภาพกาย สุขภาพใจ และความเป็นอยู่ที่ดี ประสิทธิภาพในการทำงานและผลลัพธ์ที่ได้ก็จะดีขึ้นด้วย ตัวอย่างการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พนักงาน คือการตรวจสุขภาพประจำปี, จัดกิจกรรมออกกำลังกาย, จัดอาหารสุขภาพให้ทาน, จัดกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด, เปิดพื้นที่ให้บริการปรึกษาปัญหา, ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการการเงิน, สนับสนุนค่าเดินทาง, สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี, จัด Outing ให้พนักงานได้พักผ่อน ฯลฯ

ตัวอย่างการทำ HR Sustainability จากองค์กรระดับโลก

Unilever หนึ่งในบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการนำแนวคิดการทำ Green HR อันเป็นส่วนหนึ่งของ HR Sustainability มาใช้ในองค์กร โดยเน้นไปที่การดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้อยู่กับบริษัทนานที่สุด การพัฒนาศักยภาพของพนักงาน และการสร้างแรงจูงใจให้แก่พนักงาน เพื่อให้พนักงานทุกคนมีพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้

  • รณรงค์ให้พนักงานประหยัดพลังงาน น้ำ และกระดาษ

  • สนับสนุนให้พนักงานใช้รถสาธารณะหรือรถร่วม

  • จัดกิจกรรมปลูกป่า และสนับสนุนให้พนักงานทำจิตอาสา

  • จัดฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างความยั่งยืนในด้านต่าง ๆ 

  • ให้รางวัลแก่พนักงานที่มีส่วนร่วม

ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำ HR Sustainability หรือ Green HR ของ Unilever เรียกได้ว่าประสบผลสำเร็จและบรรลุเป้าหมายที่องค์กรต้องการ เพราะช่วยให้องค์กรประหยัดเงินไปได้กว่า 1 พันล้านยูโร,  Unilever เป็นที่รู้จักในฐานะองค์กรที่มีความยั่งยืน, ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 25%, รักษาพนักงานที่มีความสามารถเอาไว้ได้, พนักงานได้รับขวัญและกำลังใจ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยให้ Unilever กลายเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืนนั่นเอง

บทสรุป

แนวทางการทำ HR Sustainability อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละองค์กร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการร่วมกันสร้างจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมให้แก่พนักงานทุกคน บางคนอาจจะทำแค่ตอนที่อยู่ในบริษัท บางคนอาจจะติดนิสัยไปทำที่บ้านและที่อื่น ๆ ด้วย ซึ่งไม่ว่าทางไหนก็ล้วนเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น สุดท้ายนี้ การทำ HR Sustainability ไม่ใช่การทำครั้งเดียวจบ แต่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง และมีการปรับปรุงพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ จึงจะทำให้องค์กรประสบผลสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

สมัครรับข้อมูลเชิงลึกของตลาด

รับข่าวสารเกี่ยวกับ ภาพรวมตลาดงาน ผ่านทางอีเมลของคุณ
ท่านได้ยอมรับคำประกาศเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล และนโยบายความเป็นส่วนตัวเพื่อให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่าน ท่านสามารถยกเลิกได้ทุกเวลา