คัดเลือกผู้สมัครงานอย่างไร ให้เหมาะสมกับตำแหน่งงาน
การจะเลือกคนที่ใช่สำหรับแต่ละตำแหน่งงานไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะคัดเข้ามาได้แต่ละคน กว่าจะสอนจนเป็นงาน กว่าจะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่ทำงานได้ก็ต้องเสียทั้งเงินและเวลาไปไม่น้อย หากมาค้นพบภายหลังว่าบุคคลที่คัดเลือกมานั้นกลับไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ต้องการ หรือไม่เหมาะกับงานอย่างที่คาด ก็คงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องกลับมาคิดทบทวนว่าควรจะแก้ไขอย่างไร การเปลี่ยนคนทุกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้เสมอไป ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือต้องเลือกคนทำงานให้เหมาะสมตั้งแต่แรก
รู้จักตำแหน่งงาน
ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการคัดเลือก คุณต้องรู้จักตำแหน่งงานที่จะเปิดรับสมัครให้ดีก่อนว่ามีรายละเอียดอย่างไร เนื้องานประเภทนี้ต้องการความรู้ความสามารถด้านใด มีคุณสมบัติพิเศษใดที่จำเป็นต้องมี โดยควรคำนึงถึงคุณลักษณะทั้งความรู้ด้านเทคนิค (Hard Skill) และทักษะทางด้านคนหรือด้านสังคม (soft skill) ให้รอบด้าน และควรใส่ใจรายละเอียดการลงประกาศหางาน ใส่ข้อมูลที่สำคัญให้ครบถ้วนตั้งแต่แรก
สัมภาษณ์ผู้สมัครงานอย่างมีเป้าหมาย
การจะเรียกใครสักคนเข้ารับการสัมภาษณ์ มักหมายความว่าคุณสมบัติของบุคคลนั้นผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้ว ดังนั้นหลายครั้งการสัมภาษณ์จึงเป็นไปอย่างพอเป็นพิธี ใช้คำถามชุดเดิมกับทุกคน ทำให้ขาดประสิทธิภาพ ในความเป็นจริงแล้วควรมีทั้งคำถามทั่วไปและคำถามที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละตำแหน่ง หรือหากเป็นการทดสอบคุณสมบัติด้าน soft skill แทนที่จะถามคำถามโดยตรง อาจเลือกเป็นการสร้างสถานการณ์หรือจำลองความกดดันคล้ายกับที่จะต้องเจอเวลาทำงานจริง เพื่อดูปฏิกิริยาตอบสนองของผู้เข้าสมัครบ้างก็ได้
ผู้สัมภาษณ์ก็สำคัญ
ผู้บริหารในแผนกที่ต้องการพนักงานใหม่ควรเป็นส่วนหนึ่งในทีมสัมภาษณ์เสมอ เนื่องจากจะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าทางแผนกต้องการคนเช่นไร เพื่อมาทำงานในลักษณะใด นอกจากนี้ทางบริษัทควรมีการจัดอบรมเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ต้องทำหน้าที่สัมภาษณ์เอาไว้บ้างว่าเทคนิคและข้อควรระวังในการเป็นผู้สัมภาษณ์นั้นมีอะไร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดเลือกให้ดียิ่งขึ้น
อย่าตัดสินคนที่ภายนอก
ผู้สมัครงานบางคนอาจจะมีบุคลิกดีเป็นพิเศษ ตรงกันข้ามบางคนอาจจะดูเด็ก ดูไม่มั่นใจเท่าที่ควร หรือผู้สมัครงานบางคนอาจมีผลการเรียนดีเยี่ยม มีประสบการณ์การทำงานที่ยาวนานดูน่าเชื่อถือ แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอกและข้อมูลบนกระดาษที่อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้ ดังนั้นผู้สัมภาษณ์ควรเน้นถามไปที่ผลงานและความสำเร็จที่ผู้สมัครงานเคยทำเอาไว้ประกอบด้วย นอกจากนี้ความสามารถบางประการ เช่น ภาษา ความรู้ทางคอมพิวเตอร์ หรือความรู้ใดก็ตามที่ทดสอบด้วยการให้ทดลองทำได้ ควรให้ผู้สมัครงานได้ลงมือทำและดูจากผลงานที่ได้มากกว่าอ้างอิงข้อมูลจาก resume หรือประกาศนียบัตรเพียงอย่างเดียว
ลองให้ผู้สมัครงานสอบถามบ้าง
สำหรับข้อนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครงานได้เรียนรู้รายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทมากขึ้นแล้ว ยังสามารถใช้ทดสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับทัศนคติ ความมั่นใจหรือการเตรียมตัวด้านข้อมูลของแต่ละคนได้ และยังสามารถสื่อให้เห็นว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องใดเป็นพิเศษอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะทำดีที่สุดอย่างเต็มความสามารถแล้ว บางครั้งก็ยังอาจเกิดความผิดพลาดได้อยู่ เช่น อาจจะยังหาผู้สมัครงานที่ต้องการไม่ได้เสียที หรือยังมีการคัดเลือกคนที่ไม่เหมาะสมเข้ามาอีกบ้าง ขอให้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขขั้นตอนหรือมองหาทางเลือกอื่นบ้าง เช่น จะสามารถเลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติดีที่สุดแม้อาจจะไม่ครบทุกประการแต่ให้การอบรมเพิ่มเติมแทนได้ไหม หรือยังสามารถปรับแก้ขั้นตอนการรับสมัครและสัมภาษณ์งานในจุดใดได้อีกหรือไม่ ตราบใดที่ยังไม่หยุดพัฒนาและเรียนรู้ คุณก็ยังสามารถทำให้ขั้นตอนการเลือกสรรบุคลากรขององค์กรดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆได้ค่ะ